ระหว่างทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 19 ต่อเนื่องไปถึงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงเวลาสำคัญยิ่งในชีวิตแมคอินทอช ด้านการทำงาน หลังจากแมคอินทอชได้พิสูจน์ตัวเองด้วยฝีไม้ลายมือและความมุ่งมั่นเป็นเวลานานกว่าสิบปี ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1901 เขาได้เลื่อนฐานะเป็นหุ้นส่วนของสำนักงานสถาปนิกจอห์น ฮันนีแมน เคปปี แอนด์แมคอินทอช (John Honeyman Keppie & Mackintosh : JHKM) ความคับข้องใจอันเนื่องมาจากการทำงานเบื้องหลังอย่างไร้ตัวตนคงคลายลง ชื่อแมคอินทอชได้ปรากฏในแบบให้เป็นที่รับรู้ทั่วกันว่าเขาคือสถาปนิกผู้ออกแบบโครงการที่น่าตื่นตาตื่นใจ ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช สถาปนิกที่โลก(เคย)ลืม
Charles Rennie Mackintosh : 1868 - 1928
ตอนที่ 2 ความผูกพันนำทางสายใหม่
|
แมคอินทอช (ยืนขวาสุด) และเพื่อนร่วมงานในสำนักงานสถาปนิกจอห์น ฮันนีแมน แอนด์เคปปี ราว ค.ศ. 1890 ที่มา : Thomas Howarth, Charles Rennie Mackintosh and the Modern Movement, London : Routledge & Kegan Paul, 2nd edn, 1977 จาก www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
|
ด้านชีวิต ในเดือนกันยายน ค.ศ.1900 แมคอินทอชแต่งงานกับมากาเร็ต แมคโดนัลด์ (Magaret Macdonald : 1864-1933) ทั้งคู่สนิทสนมกันมาตั้งแต่ยังเรียนที่โรงเรียนศิลปะแห่งเมืองกลาสโกว์ ในช่วงเวลานั้นแมคอินทอชกับเจมส์ เฮอเบิร์ต แมคแนร์ (James Herbert Macnair) เพื่อนสนิทของเขาและสองสาวพี่น้องมากาเร็ตและฟรานเซส
แมคโดนัลด์ (Magaret, Frances Macdonald) ร่วมกันทำงานศิลปะแนวใหม่ในนามกลุ่ม
“สี่สหาย” (The Four) ผลงานของพวกเขาแปลกใหม่และมีเอกลักษณ์โดดเด่น เป็นที่ยอมรับว่าเป็นรูปแบบแห่งเมืองกลาสโกว์ (Glasgow
Style)
แมคอินทอชและมาร์กาเร็ตร่วมชีวิตกันทั้งในยามวันชื่นคืนสุข และยามทุกข์ยากแสนเข็ญตราบจนวาระสุดท้าย ก่อนที่แมคอินทอชจะเสียชีวิตไม่นาน ในจดหมายฉบับหนึ่งเขาได้เขียนบอกมาร์กาเร็ตว่า“...ไม่น้อยกว่าครึ่งของทุกสิ่งที่เกื้อหนุนการทำงานของผม ผมได้รับมาจากคุณ...”
|
ภาพที่ 12 มาร์กาเร็ต แมคโดนัลด์ เมื่ออายุ 37 ปี (1901) ที่มา : www.npg.org.uk |
มาร์กาเร็ตซึ่งเป็นจิตรกรได้ร่วมทำงานในโครงการที่แมคอินทอชออกแบบหลายโครงการเช่น ร้านอาหารมิสส์แครนสตันท์ ภายในร้านมีผนังสำคัญสองด้านที่หันเข้าหากัน ด้านหนึ่งประดับด้วยภาพ “The Wassail" ที่แมคอินทอชออกแบบ (ภาพที่ 13) อีกด้านหนึ่งประดับด้วยภาพ “The
May Queen” ที่มากาเร็ตออกแบบ (ภาพที่ 14) ภาพทั้งสองนี้มีรูปแบบแปลกใหม่และอาจแฝงสัญลักษณ์โบราณที่ทั้งคู่สนใจไว้ในภาพด้วย ทำให้ภาพดูลึกลับชวนค้นหา อีกหนึ่งโครงการที่ทั้งคู่ทำงานร่วมกันคือ แบบประกวดคฤหาสน์สำหรับคู่รักศิลปิน ซึ่งแมคอินทอชออกแบบสถาปัตยกรรมและงานตกแต่งภายใน มากาเร็ต ออกแบบการประดับผนังภายใน (ภาพที่ 24a-c)
|
ภาพที่ 13 The Wassail ที่มา : www.artuk.org |
|
ภาพที่ 14 The May Queen ที่มา : www.artuk.org |
ระหว่างทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 19 ต่อเนื่องไปถึงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 แมคอินทอชได้ออกแบบโครงการสำคัญมากมาย นอกจากการไม่ยึดติดและพยายามหลุดพ้นจากวังวนของการประดับประดาสถาปัตยกรรมด้วยส่วนประกอบและลวดลายตามแบบแผนที่เคยมีมาอย่างไม่ยั้งคิดแล้ว อีกแนวทางหนึ่งที่แมคอินทอชทดลองในการออกแบบโครงการต่างๆคือ
การหยิบยืมรูปแบบที่เรียบซื่อและมีชีวิตชีวาจากสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของสก็อตแลนด์ นำมาปรับให้สอดคล้องกับเงื่อนไขใหม่ที่เป็นอยู่จริงในขณะนั้น เกิดเป็นรูปแบบเฉพาะตัวที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายท้องถิ่น ซึ่งในเวลาต่อมาจะค่อยๆคลี่คลายกลายเป็นรูปแบบที่บริสุทธิ์เป็นอิสระอย่างแท้จริง
และนำไปสู่สถาปัตยกรรมแบบใหม่ (Modern) ในที่สุด
ผลงานที่แสดงพัฒนาการความคิดในการออกแบบในช่วงสองทศวรรษนี้ได้แก่
บ้านในอุดมคติสำหรับคู่รักศิลปิน (Ideal Design for Artist House : 1900)
ในช่วงปี
1899-1900
แมคอินทอชได้ทดลองออกแบบบ้านเพื่อตอบโจทย์สมมติที่อาจหยิบยกมาจากชีวิตคู่ของเขาและมาร์กาเร็ต ผลการทดลองคือแบบบ้านที่คลี่คลายมาจากบ้านท้องถิ่นของสก็อตแลนด์
3 แบบที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์และชีวิตชีวาได้แก่ บ้านในชนบท (ภาพที่ 15a-b) บ้านในเมือง (ภาพที่ 16a-c) และคฤหาสน์ในชนบท (ภาพที่ 17)
|
ภาพที่ 15a แปลน และรูปด้านทิศใต้ บ้านในชนบท
|
|
ภาพที่ 15b รูปด้านทิศตะวันออก บ้านในชนบท
ภาพที่ 15a-b แบบบ้านในชนบท ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
|
|
ภาพที่ 16a แปลน และรูปด้านทิศเหนือ บ้านในเมือง
|
|
ภาพที่ 16b รูปด้านทิศตะวันออก บ้านในเมือง
ภาพที่ 16a-b แบบบ้านในเมือง ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
|
|
ภาพที่ 17 แบบคฤหาสน์ในชนบท ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
|
แม้บ้านทั้งสามแบบจะมีรูปแบบต่างกัน แต่ก็มีความคิดในการออกแบบสอดคล้องกันได้แก่- รูปทรงที่มีสัดส่วนสูงทึบ ดูคล้ายบ้านหอคอยหรือกำแพงป้อมโบราณของสก็อตแลนด์ โดยเฉพาะแบบบ้านในชนบทที่มีผนังล้มสอบด้านบน ซึ่งแสดงลักษณะทึบหนักแน่นมั่นคงแบบกำแพงป้อมได้อย่างเด่นชัด
- การจัดวางส่วนประกอบสถาปัตยกรรมด้วยแบบแผนที่ไม่เคร่งครัด สะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์ใช้สอยอย่างไปตรงมาและเปิดเผยเช่น หน้าต่างที่มีรูปแบบ ขนาด สัดส่วน ตำแหน่งการจัดวางหลากหลาย และปล่องควันที่แสดงตัวให้เห็นอย่างซื่อๆ
เมื่อปี ค.ศ.1891 ในการบรรยายหัวข้อ “สถาปัตยกรรมคหบดีของสก็อตแลนด์”
(Scotch Baronial Architecture) แมคอินทอชแสดงความคิดว่า“...ปูนสีฉาบหยาบ (Roughtcast) ซึ่งเป็นวัสดุผิวที่นิยมใช้กันทั่วไปในอาคารบ้านเรือนท้องถิ่นทั้งในสก็อตแลนด์และอังกฤษในอดีตนั้น มีความเป็นไปได้ ที่จะนำกลับมาใช้เพื่อตอบสนองและแสดง“ลักษณะใหม่”ได้อย่างไม่เคอะเขิน...” ความคิดนี้ได้ถูกทดลองในการออกแบบบ้านในอุดมคติทั้งสาม ดังจะเห็นได้ว่ารูปทรงทั้งหมดทำผิวด้วยปูนสีฉาบหยาบที่มีสันขอบโค้งมน ทำให้เกิดพื้นผิวที่ต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกัน มีเพียงเฉพาะจุดเด่นที่ต้องการเน้นเท่านั้นที่เป็นผิวหินเช่น กรอบประตูทางเข้าบ้าน ผนังห้องสำคัญ เป็นต้น การจัดวางประตูหน้าต่างหลากหลายรูปแบบฝังลงในผนังด้วยแบบแผนที่ผ่อนคลายและไม่ลดทอนความต่อเนื่องของพื้นผิวทำให้เกิดจังหวะที่มีชีวิตชีวา ผนังที่มีพื้นผิวต่อเนื่องขนาดสูงใหญ่จึงดูไม่เทอะทะหรือว่างโล่งจนเกินไป และเมื่อผนังนั้นไม่มีส่วนประกอบสถาปัตยกรรมหรือการประดับใดๆมาแทรกคั่น ระนาบและปริมาตรของรูปทรงจึงปรากฏให้เห็นเด่นชัด และแสดงความงามออกมาเองด้วยสัดส่วน ขนาด และจังหวะที่สอดประสานกัน ซึ่งเป็นลักษณะใหม่ที่ต่างจากความงามลักษณะเดิมอันเกิดจากการเติมแต่งผิว
ก่อนปี ค.ศ.1895 แมคอินทอชได้เดินทางไปสเกตซ์ศึกษาบ้านท้องถิ่นดั้งเดิมในเมืองไลม์ เรจส์
(Lyme Regis : ภาพที่ 18) หน้าต่างแบบมุขสามด้านยื่นจากผนังและช่องแสงตารางของบ้านหลังนี้คงเป็นสิ่งที่แมคอินทอชประทับใจ และเล็งเห็นว่าสามารถนำกลับมาใช้เพื่อตอบสนองและแสดงลักษณะใหม่ได้ หน้าต่างแบบมุขสามด้านยื่นจากผนังและช่องแสงตารางได้ถูกนำมาทดลองในแบบบ้านในอุดมคติทั้งสาม ต่อเนื่องไปยังการออกแบบโครงการต่างๆในเวลาต่อมา โดยเฉพาะช่องแสงตารางซึ่งจะพัฒนาและคลี่คลายกลายเป็นช่องแสงตารางจัตุรัสที่ปรากฏโดดเด่นในเวลาต่อมา รวมถึงการสอดแทรกรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่พบเสมอทั้งในงานสถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายในและเฟอร์นิเจอร์ (ภาพที่ 19) จนกลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งในผลงานของเขา เป็นไปได้หรือไม่ว่าแมคอินทอชใช้สี่เหลี่ยมจัตุรัสที่สมบูรณ์และบริสุทธิ์เป็นสัญลักษณ์ของรูปแบบใหม่ที่ไร้ร่องรอยของรูปแบบใดๆ
|
ภาพที่ 18 ภาพสเกตซ์บ้านท้องถิ่นดั้งเดิมในเมืองไลม์ เรจส์ ตีพิมพ์ใน Britsh Architect เมื่อราว ค.ศ.1895 ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk |
|
ภาพที่ 19 รูปด้านงานออกแบบตกแต่งภายในห้องนอน ในนิทรรศการ Heirat und Hausrat เดรสเด็น เยอรมันนี ค.ศ.1903 ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
|
บ้านวินดีฮิลล์ (Windy Hill House : 1900)
จินตนาการและความคิดในการออกแบบบ้านในอุดมคติสำหรับคู่รักศิลปินที่เคยอยู่บนกระดาษ ได้ปรากฏเป็นงานสถาปัตยกรรมที่บ้านวินดีฮิลล์ บ้านของนายวิลเลียม เดวิดสัน พ่อค้าชาวเมืองกลาสโกว์ผู้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือแมคอินทอชเสมอ แม้แต่เมื่อแมคอินทอชเสียชีวิตแล้ว เขาก็ยังสนับสนุนให้มีการจัดนิทรรศการย้อนหลังขึ้นในเมืองกลาสโกว์
เพื่อให้ชาวเมืองได้ระลึกถึงและเห็นคุณค่าของผลงานที่แมคอินทอชทุ่มเททำมาทั้งชีวิต
แปลนบ้านวินดีฮิลล์มีลักษณะลื่นไหลไปตามแบบแผนที่ไม่เคร่งครัด
(ภาพที่ 20) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแมคอินทอชให้ความสำคัญกับประโยชน์ใช้สอยและพฤติกรรมการใช้งานมากกว่ารูปแบบที่มีแบบแผนตายตัว อย่างไรก็ดีแปลนที่มีลักษณะลื่นไหลนี้อาจเป็นอิทธิพลจากงานออกแบบร่วมสมัย ดังจะเห็นได้ว่าทั้งแปลนที่มีลักษณะเป็นรูปตัว L ตำแหน่งและความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ใช้สอยต่างๆ และการจัดวางหน้าต่างแบบมุขยื่นสามด้านที่พบในบ้านวินดีฮิลล์นั้น คล้ายคลึงกับบ้านเดอะเฮริสท์ เมืองซัตตัน โคล์ดฟิลด์ (The Hurst,Sutton Coldfield : 1893 : ภาพที่ 21) ผลงานของวิลเลียม ริชาร์ด เลทาบี (William Richard Lethaby) สถาปนิกที่แมคอินทอชยกย่องชื่นชม
|
ภาพที่ 20 แปลนพื้นชั้นล่าง บ้านวินดีฮิลล์ ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
|
|
ภาพที่ 21 แปลนพื้นชั้นล่าง บ้านเดอะเฮริส์ท ที่มา : Peter Davey. Arts and Crafts Architecture. fig 45 จาก www.voysey.gotik-romanik.de
|
บ้านวินดีฮิลล์แสดงให้เห็นลักษณะใหม่ซึ่งเกิดจากกลวิธีการออกแบบต่างๆได้แก่
- รูปทรงประกอบขึ้นจากระนาบและปริมาตรสูงทึบอย่างมีจังหวะและชั้นเชิงชวนมอง ดูคล้ายบ้านหอคอยหรือกำแพงป้อมโบราณ (ภาพที่ 22a-b)
- ระนาบและปริมาตรแสดงตัวเองเด่นชัดตรงไปตรงมา โดยไม่มีบัวผนังหรือลวดลายประดับใดๆมาเบี่ยงเบน รายละเอียดหนึ่งเดียวที่แทรกอยู่คือ เส้นสายตารางจัตุรัสที่ช่องแสงซึ่งช่วยทอนรูปทรงที่สูงเรียบทึบให้ดูนุ่มนวลขึ้นและสร้างสัดส่วนที่สัมพันธ์กับคน (ภาพที่ 22a-b)
- รูปทรงทั้งหมดมีความต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกันด้วยการทำผิวปูนสีฉาบหยาบ แทรกด้วยผิวหินเฉพาะจุดเด่นที่ต้องการเน้นเช่นกรอบประตู (ภาพที่ 22a-b ,23a-b)
- การกำหนดรูปแบบขนาดและตำแหน่งของประตูหน้าต่างตามประโยขน์ใช้สอยและบรรยากาศภายใน ประตูหน้าต่างจึงมีหลากหลายลักษณะ จัดวางไว้ด้วยแบบแผนที่ไม่เคร่งครัดและไม่ลดทอนความต่อเนื่องของรูปทรง ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ไม่ถูกบงการด้วยระเบียบกฎเกณฑ์ (ภาพที่ 22a-b) โดยเฉพาะการจัดวางประตูทางเข้าบ้านให้ไม่ตั้งอยู่ในแกนหลักที่พุ่งตรงมาจากลานทางเข้า
แต่ตั้งอยู่ในแกนรองที่ตั้งฉากกับแกนหลักนั้น
แม้จะไม่แสดงประตูทางเข้าให้เห็นอย่างเปิดเผย แต่ด้วยปริมาตรรูปทรงมุขทางเข้าที่ยื่นให้เห็นเด่นชัด ก็สามารถสื่อและชักพาไปยังประตูผ่านเข้าสู่มุขทางเข้าและโถงกลางที่มีบรรยากาศอบอุ่น ซึ่งเป็นการเข้าถึง
(Approach)
ที่มีชั้นเชิงต่างจากแบบแผนเดิมๆ (ภาพที่ 20 ,23a-c )
|
ภาพที่ 22a รูปด้านทิศตะวันออก บ้านวินดีฮิลล์
|
|
ภาพที่ 22ิb รูปทัศนียภาพ บ้านเดอะฮิลล์
ภาพที่ 22a-b แบบบ้านเดอะฮิลล์ ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
|
|
ภาพที่ 23a ทางเข้าหลัก บ้านวินดีฮิลล์ |
|
ภาพที่ 23b กรอบประตูทางเข้าหลัก บ้านวินดีฮิลล์ |
|
ภาพที่ 23c โถงต้อนรับ บ้านเดอะฮิลล์
ภาพที่ 23a-c ภาพถ่าย บ้านเดอะฮิลล์ ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
|
การประกวดแบบคฤหาสน์สำหรับคู่รักศิลปิน
(Ideas Competition for a Mansion for an Art Lover : 1901)
ในระหว่างที่การก่อสร้างบ้านวินดีฮิลล์กำลังคืบหน้าไป ในปี 1901 แมคอินทอชยังได้เข้าร่วมประกวดแบบคฤหาสน์สำหรับคู่รักศิลปิน ซึ่งจัดขึ้นโดยนิตยสาร Innendekoration ในแยอรมัน การประกวดแบบมีข้อกำหนดว่า ผลงานต้องแสดงให้เห็นรูปแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ และต้องเป็นการทำงานร่วมกันของสถาปนิกและศิลปินผู้นิยมศิลปะแบบใหม่ แมคอินทอชและมากาเร็ตมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดนี้อย่างไม่ต้องสงสัย
แม้แมคอินทอชและมากาเร็ตส่งแบบเข้าร่วมประกวดตามกำหนดเวลา แต่ก็ไม่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่รอบต่อไป เพราะแบบไม่ครบถ้วน ขาดภาพทัศนียภาพภายในสามภาพ อย่างไรก็ดีด้วยความโดดเด่นของรูปแบบที่แปลกใหม่และความสอดคล้องกันของรูปแบบภายนอกและภายใน รวมถึงการนำเสนอแบบที่ประณีตสวยงาม ผู้จัดการประกวดจึงมอบเงินรางวัลพิเศษเพื่อขอซื้อแบบที่ทำเพิ่มให้สมบูรณ์ (ภาพที่ 24a-d) การประกวดแบบนี้ไม่มีผลงานใดได้รับรางวัลที่หนึ่ง อย่างไรก็ดีน่าสังเกตว่าต้นปี 1902 ผู้จัดการประกวดได้ตีพิมพ์แบบของแมคอินทอชและมาการ์เร็ตร่วมกับแบบที่ได้รับรางวัลที่สองและสาม โดยระบุว่างานสถาปัตยกรรมภายนอกและภายในออกแบบโดยแมคอินทอช ภาพและลวดลายประดับที่ผนังและเฟอร์นิเจอร์ออกแบบโดยมากาเร็ต ในปีเดียวกันแบบนี้ยังได้แสดงในงาน International Exhibition of Modern Decorative Art in Turin ต่อมาก็ได้รับการตีพิมพ์อย่างแพร่หลายในนิตยสารต่างๆเช่น Zodchii ในรัสเซีย (1903) British Architect ในอังกฤษ (1904) และ American Architect and Building News (1904)
การออกแบบคฤหาสน์สำหรับคู่รักศิลปินนี้เป็นพัฒนาการต่อเนื่องจากงานบ้านในอุดมคติสำหรับคู่รักศิลปินและบ้านวินดีฮิลล์ แมคอินทอชใช้กลวิธีในการออกแบบหลากหลายได้แก่ การไม่เน้นแนวแกนสมมาตร การจัดองค์ประกอบด้วยแบบแผนที่ไม่เคร่งครัด การใช้รูปทรงที่มีสัดส่วนสูงทึบและเรียบเกลี้ยงปราศจากการเติมแต่งที่เกินพอดี การขับเน้นระนาบและปริมาตรของรูปทรงให้เห็นเด่นชัดและแสดงความงามออกมาเองด้วยสัดส่วน ขนาด และจังหวะที่สอดประสานกัน การทำผิวปูนสีฉาบหยาบเพื่อทำให้รูปทรงทั้งหมดมีลักษณะต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกัน ส่วนประกอบสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบและการจัดวางตามประโยชน์ใช้สอยจะถูกแสดงให้เห็นอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา และการใช้ช่องแสงตารางจัตุรัสเป็นรายละเอียดที่ช่วยทอนรูปทรงที่สูงเรียบทึบให้ดูนุ่มนวลขึ้น และช่วยสร้างสัดส่วนที่สัมพันธ์กับคน และยังอาจเป็นสัญลักษณ์ของรูปแบบใหม่ แม้ว่ากลวิธีเหล่านี้จะมีที่มาจากความประทับใจในสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของสก็อตแลนด์ที่มีลักษณะอิสระ ไม่ยึดติดกับระเบียบแบบแผน มีชีวิตชีวาและผ่อนคลาย แต่แมคอินทอชก็สามารถนำมาสร้างรูปแบบใหม่ที่มีลักษณะสง่างาม ทัดเทียมรูปแบบคลาสสิคที่เคยทำกันมา (ภาพที่ 24a-d)
|
ภาพที่ 24a รูปด้านทิศใต้ คฤหาสน์สำหรับคู่รักศิลปิน |
|
ภาพที่ 24b รูปทัศนียภาพทิศตะวันตกเฉียงเหนือ คฤหาสน์สำหรับคู่รักศิลปิน
|
|
ภาพที่ 24c รูปทัศนียภาพภายในห้องดนตรีและรับรอง คฤหาสน์สำหรับคู่รักศิลปิน
|
|
ภาพที่ 24d รูปด้านผนังภายในของห้องดนตรีและรับรอง คฤหาสน์สำหรับคู่รักศิลปิน
ภาพที่ 24a-d แบบคฤหาสน์สำหรับคู่รักศิลปิน ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk |
บ้านเดอะฮิลล์ (The Hill House : 1902) จินตนาการ ความคิด และกลวิธีในการออกแบบทั้งหมดซึ่งเป็นที่มาของบ้านวินดีฮิลล์ได้ถูกเน้นย้ำอีกครั้งในการออกแบบบ้านเดอะฮิลล์ บ้านของวอลเตอร์ ดับเบิลยู แบล็คกี (Walter W Blackie) แม้บ้านทั้งสองนี้จะมีรูปแบบและแบบแผนในทำนองเดียวกัน แต่ด้วยพื้นที่ใช้สอยที่มากกว่า บ้านเดอะฮิลล์จึงมีขนาดใหญ่และรูปทรงที่ซับซ้อนกว่า นอกจากนั้นยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจยิ่งคือ ผนังโค้งเจาะช่องหน้าต่างขนาบด้วยระนาบสี่เหลี่ยม ซึ่งตามแบบทัศนียภาพ (ภาพที่ 25b) แสดงให้เห็นว่ามีรูปสลักติดตั้งอยู่ที่ระนาบสี่เหลี่ยม แต่เมื่อสร้างแล้วเสร็จกลับไม่มีรูปสลัก (ภาพที่ 26a) ระนาบนั้นจึงว่างเปล่าดูคล้ายบานบังตา (Shutter) ที่ถูกหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันกับผนังโค้ง การหายไปของรูปสลักทำให้ระนาบและปริมาตรแสดงตัวเองเด่นชัดตรงไปตรงมาและเรียบเกลี้ยงยิ่งขึ้น แสงและเงาที่ทาบลงบนผนังโค้งและเงาของผนังโค้งที่ทาบลงบนระนาบอื่นๆทำให้เกิดความต่างที่น่าสนใจ ประกอบกับความโค้งเพียงเล็กน้อยที่ทำให้ดูคล้ายว่าผนังเรียบค่อยๆนูนออกและกลับสู่ระนาบเดิม ผนังโค้งนี้จึงแสดงตัวเองเป็นส่วนประกอบหนึ่งซึ่งถูกจัดวางแทรกไว้ในผนังเรียบต่อเนื่องเป็นเนิ้อเดียวกัน ระนาบผนังที่ใหญ่จึงถูกทอนให้มีสัดส่วนดีขึ้น ดูไม่เทอะทะเกินไป ผนังโค้งนี้จึงเป็นอีกกลวิธีการออกแบบเพื่อให้ระนาบ ปริมาตรและรูปทรงแสดงความงามออกมาเองด้วยสัดส่วน ขนาดและจังหวะที่สอดประสานกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีการประดับใดๆ เมื่อพิจารณาว่าหอคอยของปราสาทเมย์โบล์วและบ้านหอคอยทราแควร์ (ภาพที่ 7 ,8) ก็มีลักษณะเป็นผนังโค้งที่ยื่นออกมาจากผนังเรียบ ก็ชวนให้คิดว่าผนังโค้งที่บ้านเดอะฮิลล์นี้แท้ที่จริงคือหอคอยที่ถูกลดทอนให้เรียบง่ายถึงที่สุด
|
ภาพที่ 25a แปลนพื้นชั้นล่างและผังบริเวณ บ้านเดอะฮิลล์
|
|
ภาพที่ 25b รูปทัศนียภาพทิศตะวันตกเฉียงใต้ บ้านเดอะฮิลล์
ภาพที่ 25a-b แบบบ้านเดอะฮิลล์ ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
|
|
ภาพที่ 26a ภาพถ่ายทิศตะวันตกเฉียงใต้ บ้านเดอะฮิลล์ (ค.ศ.1904) |
|
ภาพที่ 26b ภาพถ่ายทิศตะวันออกเฉียงใต้ บ้านเดอะฮิลล์ (ค.ศ.1904) |
|
ภาพที่ 26c โถงต้อนรับ บ้านเดอะฮิลล์ (ค.ศ.1904)
|
|
ภาพที่ 26d ประตูทางเข้าหลัก บ้านเดอะฮิลล์ (ค.ศ.2011)
ภาพที่ 26a-d ภาพถ่ายบ้านเดอะฮิลล์ ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
|
วอลเตอร์ ดับเบิลยู แบล็คกี อาศัยอยู่ในบ้านเดอะฮิลล์เป็นเวลาร่วมห้าสิบปีตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 1904 จวบจนเขาเสียชีวิตในปี 1953 เขาไม่ได้เป็นเพียงแค่ลูกค้าหรือนายจ้าง แต่เขายังเป็นทั้งเพื่อน ที่ปรึกษา ผู้สนับสนุนและช่วยเหลือแมคอินทอชเสมอ ในบันทึกความทรงจำที่เขาเขียนไว้เมื่อปี 1943 เพื่อหวนระลึกถึงแมคอินทอช (Memories of Charles Rennie Mackintosh) เขาได้เล่าถึงบุคลิก ความคิดและแนวทางการทำงานของแมคอินทอชไว้ว่า “...เมื่อพบกันครั้งแรกผมประทับใจความกระฉับกระเฉงกระตือรือร้นของแมคอินทอช เขาใส่ใจไตร่ถามความต้องการของเจ้าของบ้านไม่ต่างจากการการออกแบบโครงการใหญ่ๆ ผมบอกความต้องการต่างๆให้เขาฟังเช่น ไม่ชอบบ้านมุงหลังคากระเบื้องสีแดงซึ่งดูไม่ดีเมื่ออยู่ท่ามกลางท้องฟ้าขมุกขมัวของถิ่นนี้ ไม่ชอบบ้านก่ออิฐทำผิวฉาบปูนแทรกสลับกับโครงสร้างไม้ วัสดุที่ชอบคือผิวปูนสีฉาบหยาบสีเทาที่ดูแปลกตาสำหรับผนัง และหินชนวนสำหรับมุงหลังคา ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้สถาปัตยกรรมน่าประทับใจคือความงามจากการจัดวางส่วนประกอบและรูปทรงต่างๆอย่างพิถีพิถัน ไม่ใช่ความงามอย่างบังเอิญอันเป็นพลอยได้จากการประดับประดาไปตามแบบแผนที่คุ้นเคย แมคอินทอชเห็นด้วยกับสิ่งที่ผมบอก และได้เชิญผมไปเยี่ยมชมบ้านวินดีฮิลล์ที่เขาออกแบบให้คุณเดวิดสัน
เมื่อถึงวันนัดคุณเดวิดสันได้พาชมทุกส่วนของบ้าน และได้กล่าวย้ำกับผมว่า ‘แมคอินทอชคือสถาปนิกที่เหมาะสมที่สุด’...เมื่อเริ่มงานออกแบบแมคอินทอชเสนอแปลนแสดงการจัดพื้นที่ใช้สอยต่างๆให้พิจารณาก่อน เมื่อสรุปแบบแปลนที่เหมาะสมได้แล้ว เขาจึงทำแบบรูปด้าน...ใช้เวลาไม่นานก็สามารถสรุปแบบและเริ่มก่อสร้าง...แต่งานก่อสร้างต้องล่าช้าเพราะการประท้วงหยุดงานของคนงานเหมืองหินที่ยืดเยื้อ ทำให้ไม่สามารถจัดหาหินชนวนมุงหลังคาเฉดสีน้ำเงินเข้ม ซึ่งเป็นเฉดสีเดียวที่แมคอินทอชยืนยันว่าเหมาะสมที่สุด...แมคอินทอชจะใส่ใจทุกรายละเอียดในบ้านและออกแบบอย่างพิถีพิถันเพื่อให้ใช้งานได้ดีและสวยงาม...โดยเฉพาะห้องสำคัญคือ โถงต้อนรับ ห้องรับแขก (ภาพที่ 27a) ห้องสมุด และห้องนอนใหญ่ (ภาพที่ 27b) ทั้งเฟอร์นิเจอร์พร้อมอุปกรณ์ เตาผิง โคมไฟ ภาพลายฉลุตกแต่งผนัง (Stencil) พรม ม่าน แมคอินทอชได้ออกแบบไว้อย่างเหมาะเจาะประณีตสวยงาม...ผมคิดว่าการมุ่งแสวงหาสิ่งที่ตอบสนองการใช้งานได้ดีที่สุดทำให้ผลงานของแมคอินทอชมีความสดใหม่ไม่ซ้ำใคร...เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จแมคอินทอชได้กล่าวกับผมว่า ‘ที่นี่ไม่ใช่วิลลาส์แบบอิตาเลียน คฤหาสน์แบบอังกฤษ กระท่อมไม้แบบสวิตซ์ หรือปราสาทแบบสก็อตซ์ แต่ที่นี่คือบ้านเพื่อการอยู่อาศัย’...”
|
ภาพที่ 27a ห้องรับแขก บ้านเดอะฮิลล์
|
|
ภาพที่ 27b ห้องนอนใหญ่ บ้านเดอะฮิลล์
ภาพที่ 27a-b ภาพถ่ายภายในบ้านเดอะฮิลล์ ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk |
Comments
Post a Comment