ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช สถาปนิกที่โลก (เคย) ลืม ตอนที่ 2 (ต่อ)

        กว่าสองทศวรรษที่แมคอินทอชเรียนรู้ ฝึกฝน ค้นคว้า ทดลอง และพัฒนาด้วยจิตใจที่ไม่ยึดติด เพื่อมุ่งสู่การสร้างสรรค์ที่เป็นอิสระ  อันจะนำไปสู่สถาปัตยกรรมซึ่งสะท้อนความจริงของยุคสมัยที่ผูกโยงอย่างแนบแน่นกับถิ่นฐานบ้านเกิดคือเมืองกลาสโกว์และสก็อตแลนด์  ราวต้นศตวรรษที่ 20 แมคอินทอชก็ได้ก้าวไปถึงหมุดหมายแรกของเส้นทางที่จะนำไปสู่สถาปัตยกรรมแบบใหม่ (Modern)  ก้าวย่างอันเป็นจุดพลิกผลันของเขาปรากฏในผลงานออกแบบโครงการต่างๆ  

ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช สถาปนิกที่โลก(เคย)ลืม  

Charles Rennie Mackintosh : 1868 - 1928 

ตอนที่ 2  ความผูกพันนำทางสายใหม่ (ต่อ)

ภาพถ่ายทิศตะวันตกเฉียงใต้  โรงเรียนศิลปะแห่งเมืองกลาสโกว์ 
ผลงานชิ้นเอก (Masterpiece) ของชาร์ล เรนนี แมคอินทอช 
ซึ่งนับเป็นต้นตอของสถาปัตยกรรมแบบใหม่ (Modern)
ที่มา : RIBA Collections จาก www.architecture.com



           

ร้านอาหารวิลโลว์ทีรูม (Willow Tea Room : 1903) 

        
        นช่วงเวลาใกล้เคียงกับการออกแบบบ้านเดอะฮิลล์  แมคอินทอชยังได้ออกแบบปรับปรุงอาคารเพื่อใช้เป็นร้านอาหารวิลโลว์ทีรูม  เมื่อเปรียบเทียบรูปด้านอาคารก่อนและหลังการปรับปรุง (ภาพที่ 28) จะเห็นได้ว่ากรอบประตูหน้าต่างและบัวผนังถูกแทนที่ด้วยระนาบผนังเรียบเกลี้ยง  การจงใจยกเลิกรายละเอียดตามแบบแผนเดิมเช่นนี้เป็นหนึ่งในกลวิธีการออกแบบที่แมคอินทอชทดลองใช้เพื่อสื่อถึงการสร้างสรรค์ที่เป็นอิสระและไม่ยึดติด  เมื่อสร้างแล้วเสร็จ (ภาพที่ 29) ร้านอาหารวิลโลว์ทีรูม จึงโดดเด่นแปลกและแตกต่างจากอาคารอื่นๆตลอดแนวถนน  ในจดหมายถึงเฮอร์มาน์น มัทเธียส (Hermann Muthesius) เพื่อนผู้สนับสนุนเขาเสมอ  แมคอินทอชได้เขียนเล่าอย่างภูมิใจว่า มิสส์แครนสตันท์เจ้าของร้านอาหารวิลโลว์ทีรูม ชื่นชอบมากกับทุกสิ่งที่เขาทำ  ซึ่งดียิ่งกว่าร้านอาหารที่ดีที่สุดที่เธอเคยมี  ผลงานนี้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล  นิตยสาร Dekorative Kunst ในเยอรมันนีได้ตีพิมพ์บทความและภาพถ่าย
จำนวนมาก  ในบทความได้กล่าวยกย่องว่า “...แมคอินทอชผู้มีความผูกพันอย่างลึกซึ้งต่อกลาสโกว์บ้านเกิดเมืองนอนของเขา เป็นหนึ่งในสถาปนิกชั้นเยี่ยมไม่กี่คนที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในทวีปยุโรป...” อย่างไรก็ดีสื่อของวงการสถาปัตยกรรมในสก็อตแลนด์และอังกฤษกลับไม่สนใจผลงานนี้เลยแม้แต่น้อย


ภาพที่ 28  แบบรูปด้านก่อนและหลังปรับปรุง  ร้านอาหารวิลโลว์ทีรูม
ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk 

ภาพที่ 29  ภาพถ่ายร้านอาหารวิลโลว์ทีรูมท่ามกลางอาคารอื่นๆ เมื่อราว ค.ศ.1910-12
ที่มา : 
www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk 

        กลวิธีการออกแบบด้วยการจัดวางผนังโค้งและผนังเรียบผสมผสานกันที่พบในบ้านเดอะฮิลล์ถูกนำมาใช้อีกครั้งทำให้เกิดรูปด้านที่จงใจเรียบอย่างแยบยล  การจัดองค์ประกอบในรูปด้าน (ภาพที่ 28, 30a-b) อาจแบ่งเป็นสองแบบแผนได้แก่ 
        รูปด้านตอนล่างที่เป็นผนังโค้งใหญ่ขนาบด้วยผนังเรียบแคบๆ  เจาะช่องเปิดขนาดใหญ่เพื่อดึงดูดสายตาเข้าสู่โถงกว้างภายใน  แม้ช่องเปิดจะมีขนาดใหญ่แต่ผนังที่เหลืออยู่ก็ยังมีพื้นที่ไม่น้อยและต่อเนื่องถึงกัน  ผนังจึงปรากฏเป็นส่วนทึบ (Solid) ล้อมกรอบช่องเปิด (Void) ได้อย่างหนักแน่นสมส่วน  
        รูปด้านตอนบนที่เป็นผนังโค้งเล็กต่อเนื่องกับผนังเรียบที่มีพื้นที่กว้างกว่าเล็กน้อย หน้าต่างขนาดเล็กที่ล้อรับกันถูกจัดวางอยู่ในระนาบผนังทั้งสอง  ผนังจึงปรากฏเป็นส่วนทึบสอดแทรกด้วยช่องเปิด 

ส่วนทึบในรูปด้านตอนบนและตอนล่างแม้จะทำผิวเหมือนกันแต่ก็ถูกแทรกคั่นด้วยพื้นยื่นบางๆ  อย่างไรก็ดีเนื่องจากพื้นยื่นมีรูปแบบเรียบเกลี้ยงไม่แสดงตัวโดดเด่นและทำผิวเหมือนผนัง  ส่วนทึบทั้งสองตอนจึงยังคงเชื่อมโยงกัน  ไม่ได้ถูกตัดขาดจากกันโดยสิ้นเชิง  น่าสังเกตว่าทำไมแมคอินทอชจึงออกแบบพื้นยื่นแทรกคั่นระหว่างรูปด้านสองตอน  เป็นไปได้หรือไม่ว่าพื้นยื่นถูกแทรกไว้เพื่อพรางรอยต่อของผนังตอนล่างและตอนบนที่มีระนาบโค้งและเรียบต่างกัน  หรือพื้นยื่นจะเป็นตัวเน้นความโค้งของผนังตอนล่างให้เด่นชัดยิ่งขึ้น  เห็นได้จากเส้นขอบผนังโค้งที่ท้องพื้นและเงาของพื้นยื่นที่ทาบบนผนังโค้ง  นอกจากนั้นหากพิจารณาว่าแมคอินทอชอาจใช้สี่เหลี่ยมจัตุรัสที่สมบูรณ์และบริสุทธิ์เป็นสัญลักษณ์ของรูปแบบใหม่  พื้นยื่นก็ยังอาจเป็นเส้นแบ่งที่กำหนดให้ผนังตอนล่างมีสัดส่วนเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส (ภาพที่ 28, 30b)  ผสานกับช่องแสงตารางจัตุรัสที่เริ่มปรากฏเป็นระนาบช่องเปิดขนาดใหญ่  ซึ่งเป็นพัฒนาการก่อนที่จะบรรลุถึงขีดสุดในการออกแบบโรงเรียนศิลปะแห่งเมืองกลาสโกว์ระยะที่ 2 ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า


ภาพที่ 30a  ภาพถ่ายรูปด้านหน้า ร้านอาหารวิลโลว์ทีรูม
ที่มา :  Dekorative Kunst, 8, 1905, p. 258 
จาก www.mackintotosh-architecture.gla.ac.uk 


ภาพที่ 30b  ภาพถ่ายตอนล่างของรูปด้านหน้า ร้านอาหารวิลโลว์ทีรูม
ที่มา : Builders' Journal and Architectural Engineer, 24, 28 November 1906, p.263
จาก  www.mackintotosh-architecture.gla.ac.uk 


โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ (Glasgow School of Art) :

ระยะที่ 1 ค.ศ.1896 ,ระยะที่ 2 ค.ศ.1907

        โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ.1845  ผ่านไปราวครึ่งศตวรรษ  แม้ได้รับการยอมรับว่าเป็นโรงเรียนชั้นนำในสหราชอาณาจักรแต่ก็ยังไม่มีอาคารสถานที่ที่เหมาะสม  แผนการก่อสร้างโรงเรียนเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นโดยการผลักดันของ ฟรานซิส นิวเบอรี ครูใหญ่ของโรงเรียนและครูผู้สนับสนุนแมคอินทอชเสมอมา  ต้นปี 1896 เขาได้จัดทำข้อกำหนดการประกวดแบบที่ระบุรายละเอียดสำคัญๆเช่น ขนาดห้องเรียน การจัดวางสตูดิโอรับแสงจากทิศเหนือ ช่องแสงในสตูดิโอต้องมีความสูงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ส่วนของความลึกของสตูดิโอ รวมถึงงบประมาณก่อสร้าง 14,000 ปอนด์
  
        ในกลางปีนั้นสำนักงานสถาปนิกที่มีชื่อเสียงในเมืองกลาสโกว์รวม 12 ราย  ได้รับเชิญเข้าร่วมการประกวดออกแบบโรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์  ในระหว่างออกแบบสถาปนิกเหล่านี้มีความเห็นร่วมกันว่า ตามงบประมาณที่กำหนดไว้  เป็นไปไม่ได้ที่จะออกแบบอาคารให้มีพื้นที่ใช้สอยครบตามข้อกำหนด  ต่อมาจึงมีการแก้ไขข้อกำหนดให้ผู้เข้าประกวดแจ้งว่า ตามงบประมาณที่กำหนดไว้สามารถสร้างอาคารส่วนใดบ้าง  และถ้าจะสร้างอาคารให้เสร็จสมบูรณ์ตามแบบจะต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้นเท่าไหร่  ด้วยเหตุนี้แผนการก่อสร้างโรงเรียนจึงถูกแบ่งออกเป็นสองระยะ

        ในที่สุดมีแบบเข้าร่วมประกวด 11 ผลงาน  การตัดสินผลงานจะพิจารณาโดยกรรมการ 2 คณะที่เป็นอิสระจากกันได้แก่ กรรมการที่ทางโรงเรียนแต่งตั้ง และกรรมการจากหน่วยงานการศึกษาจากส่วนกลาง  กรรมการทั้งสองคณะได้ตัดสินเลือกผลงานเดียวกันให้เป็นผู้ชนะการประกวด  ซึ่งชื่อผู้ชนะการประกวดที่ปิดผนึกอยู่ในซองที่แนบมากับแบบผลงานนั้นก็คือ สำนักงานสถาปนิกจอห์น ฮันนีแมน แอนด์ เคปปี (JHK)  แมคอินทอชคงมีส่วนร่วมอย่างมากในการออกแบบโครงการนี้  ดังจะเห็นได้ในแบบรูปด้านทิศเหนือ (ภาพที่ 31) ซึ่งมีแบบแผนและลักษณะเรียบอย่างแยบยลตามกลวิธีในการออกแบบที่เขาเคยทดลองใช้ในโครงการก่อนหน้าได้แก่ การไม่เน้นแนวแกนสมมาตร การจัดวางส่วนประกอบสถาปัตยกรรมอย่างพอเหมาะเท่าที่จำเป็นด้วยแบบแผนที่ไม่เคร่งครัดและเหนือความคาดหมาย  และความสมดุลย์อย่างมีชั้นเชิง  ในเอกสารประกอบแบบได้บรรยายแนวคิดในการออกแบบไว้ว่า “...อาคารมีที่มาจากการยอมรับและสะท้อนให้เห็นประโยชน์ใช้สอยต่างๆอย่างตรงไปตรงมา  และนำมาประกอบกันเป็นรูปทรงหนึ่งที่มีความงามอันน่าพึงพอใจ  โดยไม่จำเป็นต้องมีการประดับใดๆที่ไร้ประโยชน์ใช้สอยและสิ้นเปลืองเปล่า...”


ภาพที่ 31  รูปด้านทิศเหนือ โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ ตามแบบระยะที่ 1 ค.ศ.1896
ที่มา : www.mackintotosh-architecture.gla.ac.uk

ภาพที่ 32  รูปด้านทิศเหนือ โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ ตามแบบระยะที่ 2 ค.ศ.1910
ที่มา : www.mackintotosh-architecture.gla.
ac.uk

        ด้วยแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับ“ประโยชน์ใช้สอย"เป็นหลักส่งผลให้การออกแบบเป็นอิสระ  ไม่ถูกครอบงำด้วยรูปแบบ  แบบจึงตอบโจทย์ตามข้อกำหนดได้อย่างตรงไปตรงมา  แตกต่างจากแนวคิดเดิมที่ให้ความสำคัญกับ“รูปแบบ”เป็นหลัก  ก่อนที่แบบแผนและส่วนประกอบตามรูปแบบนั้นจะถูกนำมาจัดวางประกอบขึ้นเป็นรูปทรงและที่ว่าง  ซึ่งในบางกรณีก็อาจไม่สอดคล้องหรือเป็นข้อจำกัดได้  เช่นเมื่อต้องออกแบบให้สนองประโยชน์ใช้สอยใหม่ซึ่งต่างจากที่เคยมีมา  แนวคิดที่ต่างกันนี้สะท้อนให้เห็นได้จากช่องแสงด้านทิศเหนือที่โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ซึ่งเป็นช่องแสงต่อเนื่องขนาดใหญ่  เรียบเกลี้ยง มีเพียงวงกบ ไม่มีเส้นประดับแทรก  เพื่อเปิดรับแสงเข้าสู่พื้นที่การเรียนการสอนอย่างเต็มที่ (ภาพที่ 33 ,35a)  แตกต่างจากโรงเรียนศิลปะแห่งอื่นๆในช่วงเวลานั้น  ซึ่งช่องแสงจะถูกแบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆแทรกเป็นจังหวะสลับกับส่วนประกอบตามแบบแผนของรูปแบบ (ภาพที่ 34b-c)  รูปแบบช่องแสงด้านทิศเหนือนี้ส่งผลให้โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ดูคล้ายอาคารสำนักงานหรือโรงงานในช่วงปลายศตวรรษที่ 19  อย่างไรก็ดีช่องแสงลักษณะคล้ายคลึงกันนี้มีตัวอย่างให้เห็นมาก่อนที่โรงเรียนช่างศิลป์แห่งชาติ วิทยาเขตเซาท์ เคนซิงตัน (National Art Training School ,South Kensington) ซึ่งออกแบบโดยฟรานซิส โฟว์ค (Francis Fowke) เมื่อราว ค.ศ.1863 (ภาพที่ 34a) น่าสังเกตว่าศิษย์เก่าคนสำคัญคนหนึ่งของโรงเรียนแห่งนี้ก็คือ ฟรานซิส นิวเบอรี ครูใหญ่ของโรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์นั่นเอง

     
ภาพที่ 33  ภาพถ่ายด้านทิศเหนือ  โรงเรียนศิลปะแห่งเมืองกลาสโกว์
ที่มา : www.mackintotosh-architecture.gla.ac.uk

ภาพที่ 34a  โรงเรียนช่างศิลป์แห่งชาติ วิทยาเขตเซาท์ เคนซิงตัน สร้างแล้วเสร็จราว ค.ศ.1863
ที่มา : www.mackintotosh-architecture.gla.ac.uk

              
ภาพที่ 34b โรงเรียนศิลปะแห่งแมนเชสเตอร์ สร้างแล้วเสร็จราว ค.ศ.1880
ที่มา : www.mackintotosh-architecture.gla.
ac.uk

ภาพที่ 34c  โรงเรียนศิลปะแห่งเบอร์มิงแฮม สร้างแล้วเสร็จราว ค.ศ.1893
ที่มา : www.mackintotosh-architecture.gla.ac.uk


        การให้ความสำคัญกับประโยชน์ใช้สอยนั้นไม่ได้จำกัดเพียงเรื่องขนาดและคุณภาพทางกายภาพของพื้นที่ใช้สอยต่างๆเท่านั้น  แต่แมคอินทอชผู้เพิ่งผ่านชีวิตนักเรียนที่โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์มาได้ไม่นาน  และเคปปีผู้เป็นเจ้านายและนักเรียนรุ่นพี่ของเขายังได้เสนอสิ่งที่ตอบสนองพฤติกรรมการใช้งานเช่น การเสนอให้ห้องสมุดตั้งอยู่ที่ชั้น 1 เพื่อให้นักเรียนทุกแผนกเข้าถึงได้สะดวก  ซึ่งไม่ตรงกับข้อกำหนดที่ระบุให้อยู่ที่ชั้นใต้ดิน  การออกแบบทางเดินชั้น 2 ให้เปิดรับแสง (ภาพที่ 35b) เพื่อให้สามารถปรับใช้เป็นพื้นที่แสดงผลงาน  หรือแม้แต่การเสนอให้เพิ่มห้องกิจกรรมทั่วไป (Student Common Room) เพื่อให้นักเรียนและครูได้พบปะพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกัน  สิ่งเหล่านี้คงเป็นจุดเด่นที่ทำให้แบบจากสำนักงานสถาปนิกจอห์นฮันนีแมน แอนด์เคปปี  ต่างจากแบบของคู่แข่งและโรงเรียนศิลปะแห่งอื่นๆในช่วงเวลานั้น (ภาพที่ 34b ,34c)


ภาพที่ 35a  ภาพถ่ายสตูดิโอ  ได้รับแสงจากช่องแสงด้านทิศเหนือ
ที่มา :  www.mackintotosh-architecture.gla.
ac.uk
  

ภาพที่ 35b  ภาพถ่ายทางเดินชั้น 2 เจาะช่องแสงด้านบน
ที่มา : www.mackintotosh-architecture.gla.ac.uk


         การก่อสร้างโรงเรียนศิลปะแห่งเมืองกลาสโกว์ระยะที่ 1 เริ่มขึ้นราวปลายปี 1897  ใช้เวลาราว
สองปีจึงแล้วเสร็จ  แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัดจึงสร้างอาคารได้เพียงส่วนหนึ่ง (ภาพที่ 36)  ผ่านไปไม่นานอาคารนี้ก็คับแคบเกินไปเสียแล้ว  ปลายปี 1906 แผนการก่อสร้างโรงเรียนให้สมบูรณ์จึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง  สำนักงานสถาปนิกจอห์นฮันนีแมน เคปปี แอนด์แมคอินทอช ได้รับมอบหมายให้สานต่องานนี้ให้สำเร็จ  แผนการก่อสร้างระยะที่ นี้ไม่ได้เป็นเพียงการก่อสร้างตามแบบเดิมให้สมบูรณ์  แต่แมคอินทอชซึ่งในขณะนั้นมีฐานะเป็นหุ้นส่วนของสำนักงานได้ปรับเปลี่ยนแบบให้เหมาะกับพื้นที่ใช้สอยที่เพิ่มขึ้นมากและปรับแต่งสถาปัตยกรรมอย่างเข้มข้น (ภาพที่ 32)  
        
        การจงใจยกเลิกรายละเอียดตามแบบแผนเดิมเป็นแนวทางหนึ่งที่แมคอินทอชใช้เพื่อปรับแต่งสถาปัตยกรรม  เห็นได้จากการยกเลิกบัวผนัง (Cornice) เหนือช่องแสงสตูดิโอ  ยกเลิกเสาขนาบข้างประตูทางเข้าหลัก  แล้วแทนที่ด้วยกรอบประตูประดับลวดลายแบบใหม่ (ภาพที่ 37a-b)  ซึ่งเป็นลวดลายเพียงหนึ่งเดียวที่มีอยู่ในอาคาร  แมคอินทอชได้ออกแบบลวดลายและปั้นต้นแบบจากดินเหนียวด้วยตัวเอง (ภาพที่ 37cเป็นรูปหญิงสาวคุกเข่าขนาบข้างต้นกุหลาบที่ลดทอนให้เรียบง่ายและใช้เส้นโค้งที่พริ้วไหว  ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากลวดลายแบบอาร์ต นูโว (Art Nouveau)

ภาพที่ 36 ภาพวาดลายเส้น โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ เมื่อค.ศ. 1907
โดย Alexander McGibbon
ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk


ภาพที่ 37a  ภาพถ่ายทางเข้าหลัก  โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์
ที่มา : www.benblossom.com 

ภาพที่ 37b  ลวดลายสลักประดับกรอบประตูทางเข้าหลัก โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์
ที่มา :  www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk


ภาพที่ 37c  ต้นแบบลวดลายปั้นดินเหนียวโดยแมคอินทอช
ที่มา : Dekorative Kunst, 5, 1902, p. 216
จาก www.
mackintosh-architecture.gla.ac.uk


       ในการออกแบบโรงเรียนศิลปะแห่งเมืองกลาสโกว์ระยะที่ 2  แนวทางสำคัญยิ่งที่แมคอินทอชนำมาใช้เพื่อปรับแต่งสถาปัตยกรรมให้เกิดลักษณะใหม่ซึ่งต่างจากที่เคยมีมาคือ  การสอดแทรกส่วนประกอบที่มีพื้นฐานมาจากสี่เหลี่ยมจัตุรัส  แนวทางนี้เป็นผลมาจากการสั่งสมประสบการณ์ ความคิด การเรียนรู้ ค้นคว้า ทดลอง และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง  เริ่มจากการหยิบยืมหน้าต่างแบบมุขยื่นออกจากผนังและช่องแสงตารางของบ้านท้องถิ่นในสก็อตแลนด์ (ภาพที่ 18)  มาประยุกต์ใช้เป็นส่วนประกอบบริเวณทางเข้าหลักของโรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ระยะที่ 1 ในปี 1896 (ภาพที่ 31,37a)  ก่อนที่จะพัฒนาคลี่คลายเป็นช่องแสงตารางจัตุรัสในโครงการต่อๆมาเช่น แบบบ้านในเมืองสำหรับคู่รักศิลปิน ค.ศ. 1900 (ภาพที่ 16a-b)  แบบคฤหาสน์สำหรับคู่รักศิลปิน ค.ศ. 1901 (ภาพที่ 24a) และบ้านเดอะฮิลล์ ค.ศ.1902 (ภาพที่ 25b) เป็นต้น

        จนถึงก่อนหน้าการออกแบบโรงเรียนศิลปะแห่งเมืองกลาสโกว์ระยะที่ 2 ไม่นาน  ที่โรงเรียนสก็อตแลนด์สตรีท (Scotchland Street Public School : 1903)  นอกจากช่องแสงทั้งหมดของอาคารซึ่งเป็นแบบตารางหรือตารางจัตุรัสแล้ว  แมคอินทอชยังได้ออกแบบระนาบช่องเปิดตารางจัตุรัสขนาดใหญ่อีกสองแบบคือ  
        แบบแรกอยู่ที่โถงกลางอาคาร (ภาพที่ 38a)  เป็นระนาบตรงขนาดยาว 13.4  สูง 3.65 เมตร  โดยกำหนดให้เสาเหล็กผอมบางที่รองรับช่องเปิดนี้ตั้งอยู่ภายใน  เมื่อมองจากภายนอกตารางจัตุรัสจึงต่อเนื่องกันตลอด  ปรากฏเป็นระนาบผนังโปร่งใสซึ่งต่างจากผนังทึบอย่างที่คุ้นเคยกันมา  น่าเสียดายที่แบบช่องเปิดนี้ไม่ได้รับอนุมัติ  
        แบบที่สองอยู่ที่หอบันได (ภาพที่ 38b-c)  เป็นระนาบโค้งแทรกสลับด้วยส่วนทึบที่ผอมบางแยกเป็นอิสระจากบันได  ทำให้ที่ว่างภายในทะลุต่อเนื่องกันตลอดจากพื้นถึงยอด  ระนาบโค้งนี้จึงปรากฏเป็นเพียงผิวโปร่งเบาโอบล้อมที่ว่าง  ไม่ใช่ผนังรับน้ำหนักที่หนักทึบ
                            

ภาพที่ 38a  รูปด้านหน้า  โรงเรียนสก็อตแลนด์สตรีท

ภาพที่ 38b  ภาพถ่ายหอบันได  โรงเรียนสก็อตแลนด์สตรีท

ภาพที่ 38c ระนาบช่องแสงโค้งภายในหอบันได  โรงเรียนสก็ตอแลนด์สตรีท

ภาพที่ 38d ระนาบช่องแสงโค้งโอบล้อมที่ว่างภายในหอบันได  โรงเรียนสก็อตแลนด์สตรีท

ภาพที่ 38a-d  โรงเรียนสก็อตแลนด์สตรีท
ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk 


        ระนาบช่องเปิดขนาดใหญ่ได้ถูกทดลองซ้ำอีกครั้งในการออกแบบร้านอาหารวิลโลว์ทีรูม ในปี 
1906 (ภาพที่ 30b)  นับจากนี้แมคอินทอชคงเชื่อมั่นว่า "สี่เหลี่ยมจัตุรัสที่สมบูรณ์และบริสุทธิ์นั้นอาจนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของการเป็นอิสระจากแบบแผนเดิม" และเล็งเห็นว่า "ระนาบช่องเปิดตารางจัตุรัสขนาดใหญ่ส่งผลให้เกิดลักษณะใหม่คือ การเลือนหายไปของความทึบตัน ซึ่งถูกแทนที่ด้วยความโปร่งเบา"  ด้วยความเชื่อมั่นและเล็งเห็นเช่นนี้  เมื่อต้องออกแบบโรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ให้สมบูรณ์ในปี 1907  เขาจึงสอดแทรกส่วนประกอบต่างๆที่มีพื้นฐานมาจากสี่เหลี่ยมจัตุรัสไว้ในอาคารอย่างหลากหลายและโดดเด่นยิ่ง  ส่งผลให้เกิดรูปแบบใหม่ที่จับตาจับใจต่างจากรูปแบบใดๆที่เคยมีมา  ด้วยเหตุนี้อาจกล่าวได้ว่า โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์คือการปรากฏตัวเป็นครั้งแรกของสถาปัตยกรรมแบบใหม่ (Modern)

       ในรูปทรงด้านทิศเหนือ  แมคอินทอชได้สอดแทรกส่วนประกอบที่มีพื้นฐานมาจากสี่เหลี่ยมจัตุรัสไว้อย่างมั่นใจและเด็ดเดี่ยว  โดยได้ยกเลิกหลังคาเดิมแล้วแทนที่ด้วยสตูดิโอใหม่  ซึ่งมีระนาบช่องเปิดตารางจัตุรัสขนาดใหญ่ต่อเนื่องเป็นผนังตลอดแนวทิศเหนือ  ส่วนประกอบนี้มีลักษณะอิสระ เรียบเกลี้ยงโปร่งเบา และผ่อนคลายด้วยแบบแผนที่ไม่เคร่งครัดตามแบบฉบับของแมคอินทอช (ภาพที่ 32 ,39 ,39a)

 ภาพที่ 39  ภาพถ่ายด้านทิศเหนือ โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์
จะเห็นระนาบช่องเปิดตารางจัตุรัสขนาดใหญ่ต่อเนื่องตลอดแนวผนังสตูดิโอ
ที่เพิ่มเติมขึ้นในการออกแบบระยะที่ 2
ที่มา : ภาพถ่ายลิขสิทธิ์ Alan McAteer
จาก www.archdaily.com


ภาพที่ 39a  ภาพถ่ายภายในสตูดิโอที่เพิ่มเติมขึ้นในการออกแบบระยะที่ 2
ด้านซ้ายคือระนาบช่องเปิดตารางจัตุรัส
ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk 


        ที่มุมอาคารด้านทิศตะวันตกต่อเนื่องไปยังทิศใต้ (ภาพที่ 40a)  แมคอินทอชยังได้จัดวางช่องแสงตารางจัตุรัสด้วยชั้นเชิงที่แยลยลทำให้เกิดรูปแบบใหม่ที่แปลกตา  ด้านทิศตะวันตกช่องแสงตารางจัตุรัสปรากฏเป็นรูปทรงที่ยื่นลอยจากผนังพุ่งขึ้นไปตามแนวตั้ง  จัดวางองค์ประกอบส่วนทึบ (Solid) 
ส่วนเว้นว่าง (Void) และช่องเปิด (Opening) ให้เกิดลักษณะแบ่งแยก สอดแทรก ส่งต่อ ล้อรับ ที่ผสมผสานกันอย่างมีชั้นเชิง  เกิดเป็นจังหวะอันมีเสน่ห์ชวนมองไม่รู้เบื่อ (ภาพที่ 40b)
  
        ช่องแสงด้านทิศใต้ซึ่งมีลักษณะล้อรับกับช่องแสงด้านทิศตะวันตกถูกจัดวางไว้ในช่องเปิดในผนัง  โดยจะถอยแนวเข้ามาจากขอบช่องเปิดทั้งสองข้าง  ทำให้เกิดส่วนเว้นว่าง (Void) ที่มีทิศทางพุ่งขึ้นไปตามแนวตั้งส่งต่อกันขึ้นไปจนถึงตำแหน่งบนสุด  ช่องแสงจึงปรากฏเป็นส่วนประกอบที่มีลักษณะลอยตัวและโปร่งเบา (ภาพที่ 40c)  ช่องแสงตารางจัตุรัสเหล่านี้แสดงตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของที่ว่างภายในอย่างเปิดเผย  โดยเฉพาะที่ว่างภายในห้องสมุดที่แปลกใหม่และกระตุ้นจินตนาการซึ่งจะกล่าวต่อไป

ภาพที่ 40a  ภาพถ่ายทิศตะวันตกเฉียงใต้  โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์
ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk


ภาพที่ 40b ภาพถ่ายช่องแสงที่ผนังทิศตะวันตก โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์
แสดงการจัดองค์ประกอบของส่วนทึบ ส่วนเว้นว่าง และช่องเปิด 
ที่มา : www.archive.78derngate.org.uk


ภาพที่ 40c  ภาพถ่ายช่องแสงในผนังทิศใต้  โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์
ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk


        ในปี 1906 ก่อนหน้าการออกแบบโรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ระยะที่ 2 ไม่ถึงปี  แมคอินทอชได้ซื้อบ้านเลขที่ อาคารฟลอเรนทีน เทอร์เรซ ในเมืองกลาสโกว์  แล้วออกแบบปรับปรุงให้เป็นบ้านของเขาและมากาเร็ต  กลวิธีการออกแบบที่น่าสนใจซึ่งถูกนำมาใช้ในการปรับปรุงพื้นที่ชั้น 2 (First Floor) คือ 
        การยกเลิกผนังทึบระหว่างห้องรับแขกกับห้องนอนเดิม  ให้ทั้งสองส่วนเชื่อมต่อกันเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่  เพื่อใช้เป็นห้องรับแขกและห้องทำงานที่สามารถปรับใช้งานต่อเนื่องหรือแยกจากกันได้  โดยกั้นแบ่งด้วยม่านที่ติดตั้งอยู่ในช่องเปิดตามแนวผนังเดิม  ช่องเปิดนี้สูงเท่ากับกรอบประตูเดิม  ถัดขึ้นไปเป็นผนังทึบ  ระหว่างช่องเปิดและผนังทึบมีบัวเรียบคั่น  บัวเรียบนี้จะคาดต่อเนื่องไปตามผนังห้องทั้งหมดแม้แต่หน้าต่างเดิมที่มีขอบบนสูงกว่า  บัวเรียบและผนังทึบก็คาดต่อเนื่องผ่านหน้าไป  ขอบบนของเฟอร์นิเจอร์และโคมไฟที่ห้อยลงมาสัมพันธ์กับระดับบัวเรียบ  สร้างสัดส่วนลวงตาให้รู้สึกเหมือนว่าฝ้าเพดานลดลงมาอยู่ที่ระดับนั้น  ที่ว่างภายในที่สูงโปร่งจึงดูสมส่วนไม่ชะลูด กระชับและอบอุ่น  นอกจากนั้นเส้นระดับฝ้าเพดานจริงและขอบบนของหน้าต่างที่พร่าเลือนเพราะถูกบัวและผนังบดบัง ยังทำให้รู้สึกเสมือนว่าที่ว่างภายในนั้นไร้ขอบเขต  มีลักษณะไหลพุ่งขึ้นและแผ่ออกไปต่อเนื่องเชื่อมโยงกับที่ว่างภายนอก (ภาพที่ 41a-e)  กลวิธีการสร้างระนาบลวงตาและการสลายขอบเขตที่ว่างภายในที่ปรากฏในบ้านนี้  จะถูกพัฒนาต่อจนบรรลุขีดสุดในการออกแบบห้องสมุดที่โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์


ภาพที่ 41a  ภาพถ่ายบ้านเลขที่ 6 อาคารฟลอเรนทีน เทอเรซ (หลังซ้ายสุด) ราว ค.ศ.1962

ภาพที่ 41b  แปลนพื้นหลังการปรับปรุง  บ้านเลขที่ 6 อาคารฟลอเรนทีน เทอเรซ  

ภาพที่ 41c  ภาพถ่ายห้องทำงานมองจากห้องรับแขก  บ้านเลขที่ 6 อาคารฟลอเรนทีน เทอเรซ

ภาพที่ 41d ภาพถ่ายห้องรับแขก ที่สร้างขึ้นใหม่ตามแบบปรับปรุงบ้านเลขที่ 6 อาคารฟลอเรนทีน เทอเรซ
ตั้งอยู่ในอาคารห้องสมุดมหาวิทยาลัยกลาสโกว์และหอศิลป์ฮันเตอเรียน

ภาพที่ 41e  ภาพถ่ายรายละเอียดผนังและบัวที่พาดผ่านหน้าต่าง 
บ้านเลขที่ 6 อาคารฟลอเรนทีน เทอเรซ

 ภาพที่ 41a-e  บ้านเลขที่ 6 อาคารฟลอเรนไทน์เทอเรซ 
ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk

       
        ห้องสมุดที่โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ซึ่งมีชื่อเสียงเลื่องลือนั้น  แม้ว่าการจัดแปลน (ภาพที่ 42) จะป็นไปตามแบบแผนทั่วๆไปคือ  ที่ว่างภายในเป็นโถงสูงที่มีชั้นลอยล้อมรอบ  เปิดช่องโล่งตรงกลาง  แต่แมคอินทอชก็สามารถปรุงแต่งทั้งที่ว่างภายในและรูปลักษณ์ภายนอกให้สะท้อนสอดผสานกัน  จนเกิดผลลัพธ์ที่แปลกใหม่และน่าประทับใจได้ด้วยกลวิธีการออกแบบต่างๆได้แก่

        กลวิธีการสลายขอบเขตที่ว่างด้วยการบดบังเส้นระดับฝ้าและขอบบนของช่องเปิด เห็นได้จากช่องแสงด้านทิศตะวันตกที่ยื่นออกจากผนังและพุ่งขึ้นไปเหนือระดับฝ้า (ท้องพื้น) มากจนไม่เห็นขอบบน  เมื่อผสานกับการเว้นช่องว่างระหว่างพื้นชั้นลอยกับช่องแสง (ภาพที่ 42, 43a)  นอกจากจะส่งผลให้พื้นชั้นลอยดูเบาคล้ายสะพานที่ลอยอยู่กลางที่ว่างภายใน  และรูปทรงตามตั้งของช่องแสงยังคงต่อเนื่องสะท้อนรูปทรงภายนอกอย่างซื่อตรงแล้ว  ยังโน้มนำให้ที่ว่างภายในไหลพุ่งขึ้นไปสู่ภาวะเสมือนไร้ขอบเขตเบื้องบนส่งผลให้รู้สึกและสัมผัสได้ถึงอิสระที่เร้าจินตนาการกว้างไกล

        กลวิธีการสร้างระนาบลวงตา  นอกจากโคมไฟที่ห้อยลงมาสัมพันธ์กับพื้นชั้นลอยจะระบุเป็นนัยเสมือนมีระนาบฝ้ากระชับสัดส่วนที่ว่างภายในแล้ว  ระนาบลวงตายังปรากฏให้เห็นได้จากส่วนประกอบสถาปัตยกรรมภายในที่แปลกใหม่ต่างจากแบบแผนเดิมๆ  โดยเฉพาะเสารับพื้นชั้นลอยที่เป็นอิสระ (ภาพที่ 43a)  ระหว่างเสาและขอบพื้นชั้นลอยตอนล่างที่เป็นผนังทึบนั้นจะถูกแทรกด้วยลูกกรงโปร่ง  ถัดขึ้นไปเป็นช่องโปร่งมีกรอบโค้งด้านบน  ส่วนประกอบเหล่านี้ทำให้เกิดระนาบทึบ ระนาบโปร่ง และระนาบในจินตภาพที่เกิดจากการเชื่องโยงระหว่างส่วนประกอบ  ระนาบเหล่านี้จะสอดแทรกและส่งต่อกัน  ส่งผลให้ที่ว่างภายในห้องสมุดมีลักษณะปรุโปร่ง ทะลุผ่าน และไหลแผ่ไปทั้งแนวราบและแนวดิ่ง  ทำให้เกิดความรู้สึกอิสระ เร้าอารมณ์และจินตนาการให้หลุดพ้นจากข้อจำกัดใดๆ  ซึ่งเป็นลักษณะใหม่ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากที่ว่างแบบเดิมที่ปิดล้อม ควบคุม จำกัด


ภาพที่ 42  แปลนพื้นชั้น 2 ตามแบบระยะที่ 2  โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ 
แสดงห้องสมุดซึ่งตั้งอยู่ที่ขอบอาคารด้านทิศตะวันตก (ขวาสุดในแปลน)
ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk

ภาพที่ 43a ภาพถ่ายภายในห้องสมุด  โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์
ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk

ภาพที่ 43b  ภาพถ่ายช่องแสงทิศตะวันตก ภายในห้องสมุด  โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์
ที่มา :  ภาพถ่ายลิขสิทธิ์ Alan McAteer
จาก www.gsachoir.com
 
ภาพที่ 43c ภาพภ่ายภายในห้องสมุด  โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ ค.ศ.2014
ที่มา :  ภาพถ่ายลิขสิทธิ์ Bob Proctor
จาก www.artisticdress.wordpress.com

ภาพที่ 43d โคมไฟห้อย ในห้องสมุด โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์
แสดงรูปทรงและส่วนเว้นว่างรูปแบบเรขาคณิต  ที่สะท้อนถึงการออกแบบที่เป็นอิสระ  
ที่มา : www.gsaarchives.net 



        นอกเหนือจากการมุ่งแสวงหารูปแบบใหม่ที่เป็นอิสระแล้ว  อีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่เป็นรากฐานของการออกแบบโรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์มาตั้งแต่ระยะที่ 1 คือ ความประทับใจในสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของสก็อตแลนด์  ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากรูปแบบและแบบแผนต่างๆตัวอย่างเช่น
     
        หน้าต่างแบบมุขยื่นและช่องแสงตารางรูปทรงสูงต่อเนื่องสองชั้นด้านข้างประตูทางเข้า (ภาพที่ 44)  ซึ่งเป็นรูปแบบที่อาจหยิบยืมมาจากหน้าต่างของบ้านดั้งเดิมในเมืองไลม์เรจส์ (ภาพที่ 18)  ที่แมคอินทอชได้เดินทางไปสเกตซ์ศึกษาไว้ก่อนหน้าการออกแบบ  อย่างไรก็ดีหน้าต่างและช่องแสงแบบนี้ได้ถูกนำมาจัดองค์ประกอบใหม่ให้เคียงคู่อยู่กับประตูทางเข้าหลักที่ขนาบด้วยเสาประดับ  และประตูห้องบนชั้น ภายในกรอบอาร์คโค้ง  โดยมีระเบียงพาดแทรกคั่นเป็นตัวเชื่อมผสานส่วนประกอบทั้งหมด  การจัดองค์ประกอบเช่นนี้อาจได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมร่วมสมัยเช่น อาคารพาเลซคอร์ท (Palace Court : 1889-90 : ภาพที่ 45)  ซึ่งจัดองค์ประกอบบริเวณทางเข้าในทำนองเดียวกัน  อาคารนี้ออกแแบบโดยเจมส์ แมคลาเรน (James Maclaren)  สถาปนิกผู้ใฝ่หารูปแบบใหม่ที่แมคอินทอชยกย่องนับถือ 
 

ภาพที่ 44 แบบบริเวณทางเข้าหลัก 
โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์
ที่มา :  ขยายส่วนหนึ่งของแบบต้นฉบับจาก
www.
mackintosh-architecture.gla.ac.uk
ภาพที่ 45 ทางเข้าอาคารพาเลซคอร์ท
ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk



        แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของสก็อตแลนด์ยังเห็นได้จาก รูปทรงที่มีลักษณะเป็นปริมาตรของรูปทรงที่หนักแน่น กำแพงหรือผนังที่สูงทึบ การเจาะช่องเปิดอย่างอิสระ การแทรกหอคอยและมุขยื่นออกจากกำแพง  ไม่ต่างจากที่ลักษณะเด่นที่ปรากฏในบ้านหอคอย ปราสาท ป้อมปราการ เช่น 
ปราสาทเมย์โบล์ว (ภาพที่ 7)  บ้านหอคอยทราแควร์ (ภาพที่ 8)  ปราสาทไฟย์วี เมืองอเบอร์ดีนเชียร์
( Fyvie Castle, Aberdeenshire : ภาพที่ 47)  

        แมคอินทอชได้นำลักษณะเด่นเหล่านี้มาปรับใช้ในการออกแบบ  โดยเฉพาะในรูปทรงด้านทิศใต้ (ภาพที่ 46)  ซึ่งมีจังหวะที่เกิดจากการแบ่งรูปทรงเป็น 5 ส่วนย่อยลดหลั่นกัน  ในทำนองเดียวกันกับปราสาทไฟย์วี  และเป็นเพียงด้านเดียวที่ทำผิวด้วยปูนสีฉาบหยาบต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกันตลอด แตกต่างจากด้านอื่นๆซึ่งเป็นผิวหิน ปริมาตรของรูปทรงจึงปรากฏชัด แสดงลักษณะหนักแน่นสูงทึบ สอดแทรกด้วยช่องเปิดหลากหลายรูปแบบที่ถูกจัดวางด้วยแบบแผนที่ไม่เคร่งครัดนัก  

        การแทรกหอคอยและมุขยื่นออกจากกำแพงปรากฎให้เห็นเป็นรูปทรงลอยตัวที่ส่วนบนสุดของอาคารบริเวณทางเข้าหลัก (ภาพที่ 44)  และรูปทรงด้านทิศตะวันออก (ภาพที่ 48 ,49) ที่มีมุขยื่นออกจากผนังพุ่งขึ้นไปกลายเป็นรูปทรงลอยตัว  รูปทรงลอยตัวทั้งสองจุดนี้มีรูปแบบเรียบเกลี้ยงคล้ายหอคอยที่ถูกลดทอนรายละเอียด

 
ภาพที่ 46  รูปด้านทิศใต้  โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์
ที่มา :  www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk

ภาพที่ 47  ภาพถ่ายปราสาทไฟย์วี เมืองอเบอร์ดีนชาร์ย
ที่มา : www.commons.wikimedia.org

ภาพที่ 48 รูปด้านทิศตะวันออก (ขวา) และรูปด้านทิศตะวันตก (ซ้าย)  โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์
ที่มา :  www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk

ภาพที่ 49  ภาพถ่ายทิศตะวันออกเฉียงใต้  โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์
ที่มา :  www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk


        แม้การพยายามสลัดให้หลุดพ้นจากรายละเอียดอันแพรวพราวของรูปแบบเดิม  และมุ่งสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ที่เรียบซื่อตรงไปตรงมา  จะเป็นแนวคิดที่แมคอินทอชยึดเป็นหลักในการออกแบบโรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์  แต่ส่วนประกอบสถาปัตยกรรมต่างๆก็สะท้อนให้เห็นความพิถีพิถันในการออกแบบ การให้ความสำคัญต่อคุณค่าทางศิลปะและเอกลักษณ์แบบงานช่างฝีมือ  สอดคล้องกับกระบวนการศิลปกรรมและช่างฝีมือ (Art and Craft Movement) ที่มีอิทธิพลอยู่ในขณะนั้น  เห็นได้จากลวดลายแกะสลักที่กรอบประตูทางเข้าหลัก (ภาพที่ 36bดังกล่าวแล้ว  และส่วนประกอบที่ประทับใจผู้คนคือ 
เหล็กหล่อ (Wrought Iron) ซึ่งติดตั้งอยู่ที่ส่วนต่างๆของอาคารเช่น ส่วนบนสุดของอาคารบริเวณทางเข้าหลัก รั้ว และช่องแสงสตูดิโอด้านทิศเหนือ  ส่วนประกอบเหล็กหล่อเหล่านี้ล้วนเป็นงานสั่งทำตามแบบ
ที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ (ภาพที่ 50a-c)  ทั้งๆที่ช่วงเวลานั้นในเมืองกลาสโกว์มีโรงงานที่สามารถผลิตเหล็กหล่อสำเร็จรูปได้อย่างประณีตเป็นที่ยอมรับและนิยมใช้กันทั่วไป 
 
        น่าสนใจว่าเหล็กหล่อที่ช่องแสงสตูดิโอด้านทิศเหนือ  นอกจากจะช่วยลดทอนสเกลและทำให้เกิดรายละเอียดที่ประณีตสวยงามแล้ว  ยังใช้เป็นนั่งร้านรองรับบันไดเพื่อทำความสะอาดหน้าต่างได้ด้วย (ภาพที่ 51)  ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับประโยชน์ใช้สอยซึ่งเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบโรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์มาตั้งแต่แรกเริ่ม


ภาพที่ 50a เหล็กหล่อที่ยอดอาคาร ราว ค.ศ.1909
ที่มา : www.ribaj.com


ภาพที่ 50b  เหล็กหล่อที่รั้ว  โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์
ที่มา : ภาพถ่ายโดย Kieran Dodds จาก www.wsj.com 


ภาพที่ 50c เหล็กหล่อที่ช่องแสงด้านทิศเหนือ  โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์
ที่มา :  www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk

ภาพที่ 51  การใช้เหล็กหล่อที่ช่องแสงรองรับบันไดเพื่อทำความสะอาด
ที่มา : ภาพลิขสิทธิ์ Scran จาก www.scran.ac.uk
ใน www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk

        โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์  เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 
ธันวาคม 1909  แม้จะได้รับการชื่นชมในแง่ประโยชน์ใช้สอยและรูปแบบที่เป็นอิสระจากการประดับประดาดังเช่นที่ ฟรานซิส นิวเบอรี ครูใหญ่ของโรงเรียนได้กล่าวว่า
 
                 ...เป็นสถานที่ปฏิบัติงานเพื่อการเรียนรู้ทางศิลปะที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา  
                สามารถตอบสนองทุกสิ่งที่ต้องการในการเรียนรู้”  

แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับจากสื่อของวงการสถาปัตยกรรมในสก็อตแลนด์  รวมถึงเกิดกระแสต่อต้านดังเช่นบทวิจารณ์ของผู้ที่อ้างว่าเป็นนักเรียนที่ตีพิมพ์อยู่ใน The Vista นิตยสารของโรงเรียนศิลปะแห่ง
กลาสโกว์ว่า

                “...เป็นงานศิลปะแบบใหม่ที่ยากจะเข้าใจ  และสร้างความปั่นป่วนให้
                กับการเรียนการสอนศิลปะ...ถ้าแมคอินทอชมุ่งหวังความแปลกใหม่  
                เขาก็ทำได้สำเร็จอย่างที่หวัง  แต่การออกแบบที่ไร้หลักเกณฑ์เป็น
                สิ่งที่ควรถูกประณาม  ถ้ามองในแง่ดี  ก็อาจอ้างว่าป็นเรื่องยาก
                ที่จะใช้ภาษาทางสถาปัตยกรรมทั่วไป  เพื่อแสดงอุดมคติอย่างที่
                แมคอินทอชเชื่อ  ผลงานนี้เปรียบเหมือนจารึกโบราณ  เมื่อใดที่
                ผู้มีความคิดอ่านถูกต้องได้ถอดความออกมาแล้ว  ผู้คนจะต้อง
                รู้สึกขยะแขยงเรื่องราวของชายผู้คิดว่าโรงเรียนศิลปะคือกรงขัง  
                และตะเกียกตะกายสร้างมันขึ้นมาด้วยความฟุ้งฝันอย่างน่าสมเพช
                ...งบประมาณที่จำกัดคงพอใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการออกแบบเช่นนี้  
                แต่ถึงอย่างไรผลลัพธ์ก็คือ สถาปัตยกรรมหยาบๆที่เป็นหายนะ
                จากน้ำมือของสถาปนิกผู้ใฝ่หารูปแบบใหม่...”  

        หากพิจารณาว่าตั้งแต่ราวปี ค.ศ.1904 ศาสตราจารย์ยูจีน บูรตอน (Eugene Bourdon) ได้นำแนวทางที่เขาศึกษาจากโรงเรียนศิลปะโบซารส์ในฝรั่งเศส  มาใช้ในการเรียนการสอนสถาปัตยกรรมที่โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์  ก็อาจเข้าใจได้ว่าบทวิจารณ์ดังกล่าวอาจเป็นการมองต่างมุมที่ไม่เปิดกว้าง  อย่างไรก็ดีการเรียนการสอนตามแนวทางนี้ก็ได้ปลูกฝังและสร้างกระแสหลักทางความคิดขึ้นในวงการสถาปัตยกรรม  แมคอินทอชซึ่งมีความคิดทวนกระแสจึงต้องทำงานอย่างยากลำบากไม่น้อย
                
        ด้วยการออกแบบที่เป็นอิสระและไม่ยึดติด  การแสวงหารูปแบบสถาปัตยกรรมที่ตอบสนองประโยชน์ใช้สอยและพฤติกรรมการใช้งาน  การสร้างสรรค์รูปแบบและที่ว่างทางสถาปัตยกรรมแบบใหม่  การพัฒนาคลี่คลายสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่เรียบซื่อเพื่อสะท้อนความจริงแห่งยุคสมัย  และการให้ความสำคัญต่อคุณค่าทางศิลปะและเอกลักษณ์แบบงานช่างฝีมือ  โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์จึงได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็นหมุดหมายของการเริ่มต้นสถาปัตยกรรมแบบใหม่ (Modern Architecture) แต่การยอมรับและยกย่องเช่นนี้เพิ่งเกิดขึ้นในราวกลางศตวรรษที่ 20  หลังจากแมคอินทอชได้จากโลกนี้ไปแล้วหลายทศวรรษ






Comments

Popular posts from this blog

ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช สถาปนิกที่โลก (เคย) ลืม ตอนที่ 2