ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช สถาปนิกที่โลก (เคย) ลืม ตอนที่ 1

        เวลาห้าทุ่มเศษของคืนวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2018 เพลิงได้ปะทุขึ้นที่โรงเรียนศิลปะแห่งเมือง กลาสโกว์ (Glasgow School of Art) หน่วยกู้ภัยได้ระดมคนและอุปกรณ์ทั้งหมดที่มีเพื่อดับเพลิง  แต่ต้องใช้เวลาจนถึงรุ่งเช้าจึงสามารถควบคุมเพลิงได้  ทั่วเมืองคละคลุ้งไปด้วยควัน กลิ่นเถ้าถ่าน และเสียงรำพึงของผู้คนที่ต่างเศร้าใจกับฝันร้ายในชีวิตจริงที่เพิ่งผ่านไป  บางคนแทบทำใจยอมรับไม่ได้ว่า จะไม่มีอาคารนี้อีกแล้วหรือ  ทั้งๆที่เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้เพิ่งจัดงานฉลองวันเกิดครบรอบ 150 ปี ชาร์ล เรนนี  แมคอินทอช สถาปนิกผู้ออกแบบโรงเรียนนี้


ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช สถาปนิกที่โลก(เคย)ลืม  

Charles Rennie Mackintosh : 1868 - 1928 
ตอนที่ 1  เส้นทางชีวิต​ ใครลิขิต? 
       
        

ภาพเหตุเพลิงไหม้โรงเรียนศิลปะแห่งเมืองกลาสโกว์ 
ที่มา : www.dezeen.com

        เพลิงไหม้ครั้งนี้ทำให้โรงเรียนศิลปะแห่งเมืองกลาสโกว์เสียหายอย่างหนัก  มีผู้เสนอให้รื้อซากอาคารแล้วสร้างอาคารใหม่แทนที่  แต่ด้วยการสนับสนุนจากผู้คนมากมาย  ผู้อำนวยการโรงเรียนจึงตัดสินใจว่า จะสร้างโรงเรียนแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ให้สมบูรณ์ดังเดิมเหมือนที่แมคอินทอชได้ออกแบบไว้  เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจสู่คนรุ่นต่อๆไปเหมือนที่เคยเป็นมาแล้วกว่าร้อยปี  โรงเรียนศิลปะแห่งเมืองกลาสโกว์นี้นับเป็นตัวแทนความคิดและชีวิต  และเป็นมรดกที่แมคอินทอชได้ฝากไว้ให้กับเมืองกลาสโกว์   เมืองบ้านเกิดที่บ่มเพาะชีวิต  เมืองที่เขาได้พบทั้งความหวังและความท้อแท้  ความเฟื่องฟูและความตกต่ำ  เมืองที่เขาต้องละทิ้งไปในช่วงบั้นปลายของชีวิต  และไม่ได้หวนกลับมาอีกตราบจนวาระสุดท้าย



ภาพที่ 1 ชาร์ล เรนนี แมคอินทอช เมื่ออายุ 25 ปี ค.ศ. 1893
ที่มา : www.npg.org.uk


เส้นทางชีวิต ใครลิขิต?

                ย้อนกลับไป 150 ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 1868  ชาร์ล เรนนี แมคอินทอช ลูกชายของนายวิลเลียม แมคอินทอช (William Mackintosh) และนางมากาเร็ต เรนนี (Magaret Rennie) ได้ลืมตาดูโลก ณ บ้านเลขที่ 70 ถนนพาร์สัน เมืองกลาสโกว์ สก็อตแลนด์  เมื่อถึงวัยเรียนแมคอินทอชเข้าเรียนที่สถาบันอัลลัน เกล็น (Allan Glen‘s Institiution)  โรงเรียนสำหรับลูกหลานชนชั้นนำในยุคนั้น  แต่อาจเป็นเพราะแมคอินทอชมีปัญหาในการอ่านและเขียน  ซึ่งเป็นผลจากความผิดปกติแต่กำเนิดที่ทำให้สมองรับรู้ตัวหนังสือต่างจากคนทั่วไป (Dyslexiaหนุ่มน้อยแมคอินทอชในวัย 15 ปีผู้มีพรสวรรค์ด้านวาดภาพมาแต่เด็กจึงตัดสินใจเลิกเรียน  แล้วเริ่มก้าวเข้าสู่วิชาชีพสถาปนิกที่สำนักงานสถาปนิกจอห์น  ฮัทชิสัน (John Hutchison)  ในตำแหน่งเด็ก(ขอ)ฝึกงาน”ที่ไม่ได้รับค่าจ้างอยู่ราวห้าปี  จนถึงราวปี ค.ศ.1889  แมคอินทอชจึงย้ายไปทำงานเป็น“ช่างเขียนแบบสถาปัตยกรรม”ที่สำนักงานสถาปนิกจอห์น  ฮันนีแมนแอนด์เคปปี (John Honeyman & Keppie : JHK)  ในช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นนี้  นอกจากการเรียนรู้ในที่ทำงานแล้ว  ด้วยความมุ่งมั่นใฝ่ดี  แมคอินทอชยังขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมด้วยการเรียนภาคค่ำที่โรงเรียนศิลปะแห่งเมืองกลาสโกว์ควบคู่ไปด้วย  และเรียนต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่าสิบปี  

        ฟรานซิส นิวเบอรี (Francis Newbury) ครูใหญ่ของโรงเรียนศิลปะแห่งเมืองกลาสโกว์เห็นแววความสามารถอันโดดเด่นของแมคอินทอชจึงให้การสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่  ระหว่างเรียนผลงานของเขาได้รับรางวัลมากมาย  ในปี 1890 ผลงานประกวดออกแบบศาลาประชาคม (Public Hall : ภาพที่ 2) ของเขาได้รับรางวัลทุนทัศนศึกษาสถาปัตยกรรม (Alexander Thomson Travelling Studentship  Award)  ผลงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นการออกแบบที่เน้นแนวแกนสมมาตร เสกลอาคารแบบยิ่งใหญ่ และการจัดวางส่วนประกอบสถาปัตยกรรมเช่น เสา กรอบประตูหน้าต่าง หน้าจั่ว (Pediment) บัวผนัง (Cornice) อย่างแพรวพราวและมีแบบแผน (Order) ชัดเจน  สอดคล้องกับแนวทางที่สอนกันในโรงเรียนศิลปะโบซารส์ในฝรั่งเศส (Ecole des Beaux - Arts)  แมคอินทอชคงได้เรียนรู้แนวทางนี้จากจอห์น เจมส์ เบอร์เน็ต (John James Burnet)  และจอห์น เคปปี (John Keppie)  ครูและเจ้านายของเขาซึ่งเรียนจบมาจากโรงเรียนศิลปะโบซารส์




ภาพที่ 2 แบบผลงานประกวดออกแบบศาลาประชาคม (1890)
ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk

        การทัศนศึกษาครั้งนั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อแมคอินทอชเดินทางไปถึงเมืองเนเปิลส์ ในวันที่ 5 เมษายน 1891 จากนั้นเขาเดินทางไปยังเมืองสำคัญๆในอิตาลี ฝรั่งเศส เบลเยียม เช่น ปาแลร์โม โรม เซียนา โบโลญญา ฟลอเรนซ์ เวนิซ วิเซนซา เวโรนา โคโม มิลาน ปารีส แอนต์เวิร์ป เป็นต้น ตลอดการเดินทางแมคอินทอชได้เขียนภาพสเกตซ์เพื่อศึกษาและบันทึกการเรียนรู้ (ภาพที่ 3a-f)  ภาพเสกตซ์เหล่านั้นยังเหลือตกทอดมาถึงทุกวันนี้  เป็นหลักฐานที่เชื่อมโยงไปถึงตัวตนและฝีไม้ลายมือของแมคอินทอชได้อย่างมีชีวิตชีวา



ภาพที่ 3a
ภาพที่ 3b
ภาพที่ 3c
ภาพที่ 3d
ภาพที่ 3e
ภาพที่ 3f
ภาพที่ 3a-f ตัวอย่างภาพสเกตซ์จากการทัศนศึกษา
ที่มา : www.mackintoshsketchbook.net

        แบบผลงานศาลาประชาคมและภาพสเกตซ์แสดงให้เห็นว่าแมคอินทอชคงมีความรู้ความเข้าใจแบบแผนสถาปัตยกรรมคลาสสิคเป็นอย่างดี  นอกจากภาพสเกตซ์สถาปัตยกรรมคลาสสิคซึ่งเป็นผลงานตามเงื่อนไขของการรับทุนแล้ว  ในสมุดภาพยังมีภาพสเกตซ์สถาปัตยกรรมและวิถีชีวิตในท้องถิ่นต่างๆด้วย (ภาพที่ 3d,e,f)  ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแมคอินทอชประทับใจและสนใจสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่ดูผ่อนคลายและเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา  ความประทับใจนี้จะมีอิทธิพลและเป็นแรงผลักดันสำคัญในการออกแบบของแมคอินทอชในเวลาต่อมา

        ที่สำนักงานสถาปนิกจอห์น ฮันนีแมน แอนด์เคปปี​  แมคอินทอชทำงานตำแหน่ง​ช่างเขียนแบบสถาปัตยกรรมอยู่ราวสี่ปี  จนถึงปี 1893 จึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็น​สถาปนิกผู้ช่วย” นับจากนี้แมคอินทอชคงมีส่วนร่วมในการออกแบบโครงการต่างๆมากขึ้น  ในช่วงปี 1894-1897 สำนักงานสถาปนิกจอห์น ฮันนีแมน แอนด์เคปปี​ ได้รับงานโครงการขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก​  ในขณะที่เจ้านายของเขากำลังวุ่นอยู่กับโครงการสำคัญๆ​  งานบางส่วนของโครงการสำคัญและโครงการรองอื่นๆก็คงตกอยู่ในมือของสถาปนิกผู้ช่วยอย่างแมคอินทอช  ซึ่งเป็นโอกาสให้เขาทดลองออกแบบตามแนวทางที่สนใจ  อย่างไรก็ดีแมคอินทอชก็ยังมีบทบาทเป็นเพียงผู้ทำงานเบื้องหลัง​  ไม่มีชื่อของเขาในฐานะสถาปนิกผู้ออกแบบ  แม้จะคับข้องใจไม่น้อย  แต่เขาก็ยังคงทำงานด้วยความมุ่งมั่นต่อไป

        ตั้งแต่ราวกลางศตวรรษที่ 19  การปฏิวัติอุตสาหกรรมและการปฏิวัติทางการเมืองส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ไปทั่วทวีปยุโรป  โดยเฉพาะในอังกฤษที่การเปลี่ยนแปลงเริ่มขึ้นก่อนความลังเลสงสัยวิตกกังวลต่อความไม่แน่นอนอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ  กระตุ้นให้ผู้คนแสร้งลืมปัจจุบันแล้วหวนกลับไปหาอดีตที่พอจะเห็นภาพและเข้าใจได้ชัดกว่า  ภาวะจิตใจของผู้คนสะท้อนให้เห็นในงานสถาปัตกรรมที่หวนกลับไปสู่รูปแบบต่างๆจากอดีต (Eclecticism) ซึ่งเป็นกระแสหลักทางสถาปัตกรรมในช่วงชีวิตของแมคอินทอช  ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีใหม่ๆก็เกิดขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็ว  เห็นได้จากการก่อสร้างหอไอเฟลซึ่งออกแบบโดยกุสตาฟ ไอเฟล ในปี ค.ศ.1889 ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า งานวิศวกรรมโครงสร้างได้พัฒนาก้าวล้ำหน้าไปไกลกว่างานสถาปัตยกรรมที่ยังติดอยู่ในวังวนของรูปแบ

        การหยิบยืมรูปแบบและส่วนประกอบสถาปัตยกรรมจากอดีตมาใช้ในการออกแบบโดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย วิถีชีวิต และเทคโนโลยีอย่างใหม่  รูปแบบและส่วนประกอบเหล่านั้นก็อาจเป็นเพียงฉากที่อำพรางความจริงไว้เบื้องหลัง  หรือถ้านำมาใช้จนเกินควรก็อาจเป็นเพียงเครื่องประดับที่รุ่มร่ามรุงรัง  ในการบรรยายเมื่อปี 1893 แมคอินทอชได้แสดงจุดยืนที่ทวนกระแสว่า



  “ สถาปนิกและนักออกแบบทั้งหลายควรสร้างสรรค์งานศิลปะ
ด้วยใจที่เป็นอิสระและไม่ยึดติด "


        ผลงานในช่วงแรกเริ่มของแมคอินทอชแสดงให้เห็นการทดลองและแสวงหาแนวทางและกลวิธีการออกแบบตามจุดยืนที่เขาได้กล่าวไว้  ผลงานที่สำคัญในช่วงเวลานี้ได้แก่

โครงการส่วนต่อขยายอาคารสำนักงานกลาสโกว์เฮอรัลด์ (Glasgow  Herald) : 1894

                จากแบบร่างฝีมือแมคอินทอชที่ยังหลงเหลือมาถึงทุกวันนี้ (ภาพที่ 4a,4b) แสดงให้เห็นว่าเขาคงมีส่วนร่วมอย่างมากในการออกแบบอาคารสำนักงานกลาสโกว์เฮอรัลด์ ด้านถนนมิทเชล (Mitchell) ซึ่งมีหอมุมอาคารที่โดดเด่น (ภาพที่ 4c และภาพที่ 5)


ภาพที่ 4a

ภาพที่ 4b

ภาพที่ 4c
ภาพที่ 4a-c  หอมุมอาคารสำนักงานกลาสโกว์ เฮอรัลด์ ด้านถนนมิทเชล
แบบร่างโดยแมคอินทอข  และภาพถ่าย
ที่มา : 
www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk

        เมื่อเปรียบเทียบอาคารด้านถนนมิทเชล (ภาพที่ 5) กับอีกส่วนหนึ่งของโครงการคืออาคารด้านถนนบิวแคแนน (Buchanan) ที่ออกแบบโดยเจมส์ เซลลาร์ส (James Sellars) สร้างแล้วเสร็จในปีค.ศ.1880  ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิค (ภาพที่ 6)  จะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนว่าอาคารด้านถนนมิทเชลนี้จะไม่เน้นแนวแกนสมมาตร รูปแบบเรียบซื่อตรงไปตรงมา และมีลวดลายประดับเพียงบางส่วน ปริมาตรและรูปทรง (Mass-Form) ไม่ได้เน้นภาพรวมที่มีสเกลแบบยิ่งใหญ่  แต่เป็นการประกอบเข้าด้วยกันของส่วนย่อยๆอย่างแนบสนิทจนแยกจากกันไม่ได้  ส่วนประกอบสถาปัตยกรรมต่างๆเช่น หน้าจั่ว (Pediment) กรอบซุ้มประตู-หน้าต่าง บัวผนัง (Cornice) ค้ำยัน (Corbel) จะถูกนำมาใช้เท่าที่จำเป็นและจัดวางอย่างพอเหมาะด้วยแบบแผนที่ไม่เคร่งครัดและเหนือความคาดหมายเช่น การสร้างจังหวะตามแนวยาวอาคาร  ด้วยหน้าจั่วเล็กและกรอบหน้าต่างแบบพิเศษเรียงล้อรับกันลงมา  ที่ไม่ได้ถูกแทรกไว้ที่กึ่งกลางระหว่างหน้าจั่วใหญ่สองข้าง  แต่กลับจัดวางให้เยื้องไปข้างซ้าย  ทำให้อาคารข้างขวายาวและมีช่องเปิดมากกว่า  แต่ภาพรวมก็ไม่เสียสมดุลย์  เพราะอาคารข้างซ้ายที่สั้นกว่ามีหอมุมอาคารที่หนักแน่นถ่วงดุลย์ไว้  ส่วนประกอบทั้งหมดจึงหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวเกิดเป็นเอกภาพที่สมดุลย์อย่างมีชั้นเชิงชวนมองไม่รู้เบื่อ


ภาพที่ 5  รูปด้านอาคารกลาสโกว์เฮอรัลด์  ด้านถนนมิทเชล
ที่มา : 
www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk

ภาพที่ 6  อาคารกลาสโกว์เฮอรัลด์  ด้านถนนบิวแคแนน
ที่มา : 
www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk

        ความประทับใจในสถาปัตยกรรมท้องถิ่นคงมีอิทธิพลต่อการออกแบบของแมคอินทอชมาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม  เห็นได้จากรูปด้านอาคารสำนักงานกลาสโกว์เฮอรัลด์ ด้านถนนมิทเชล
  ที่มีกลิ่นอายของปราสาทและบ้านหอคอย 
(Castle,Tower House) ของสก็อตแลนด์ในอดีตเช่น ปราสาทเมย์โบล์ว เมืองแอร์ชาร์ย (Maybole Castle , Ayrshire : ภาพที่ 7) ที่แมคอินทอชเคยเดินทางไปสเกตซ์ศึกษามาก่อน  และบ้านหอคอยทราแควร์ (Traquair House : ภาพที่ 8) บ้านหอคอยที่เก่าแก่ที่สุดในสก็อตแลนด์


ภาพที่ 7  ปราสามเมย์โบล์ว เมืองแอร์ชาร์ย
ที่มา :  www.maybole.org


ภาพที่ 8  บ้านหอคอยทราแควร์
ที่มา :  www.undiscoveredscotlamd.co.uk

สโมสรอนุรักษ์นิยมแห่งเฮเลนส์เบอรห์ (Helensburgh Conservative Club) : 1894

        กลวิธีต่างๆที่ใช้ในการออกแบบอาคารสำนักงานกลาสโกว์เฮอรัลด์  แมคอินทอชยังคงนำมาใช้ในการออกแบบสโมสรอนุรักษ์นิยมแห่งเฮเลนส์เบอรห์ด้วยได้แก่ การไม่เน้นแนวแกนสมมาตร การประกอบเข้าด้วยกันของส่วนย่อยอย่างแนบสนิทจนแยกจากกันไม่ได้ การจัดวางลวดลายประดับอาคารและส่วนประกอบสถาปัตยกรรมอย่างพอเหมาะเท่าที่จำเป็นด้วยแบบแผนที่ไม่เคร่งครัดและเหนือความคาดหมาย  และความสมดุลย์อย่างมีชั้นเชิง

        ผนังด้านหน้าสโมสรอนุรักษ์นิยมแห่งเฮเลนส์เบอรห์มีลักษณะพิเศษคือ ระนาบที่ไม่แบนราบ แต่จะมีมุขตื้นๆสองชุดที่ดูพริ้วไหวคล้ายค่อยๆนูนออกและเว้ากลับสู่ระนาบฐาน  ส่วนยอดของมุขทั้งสองจะยื่นขึ้นไปเป็นผนังลอยตัวและเชื่อมเป็นระนาบเดียวกัน  โดยมีซุ้มโค้งฉลุลายเป็นตัวผสาน  มุขสองชุดนี้มีสัดส่วนแตกต่างกัน  มุขด้านซ้ายจะกว้างและสูงกว่า  แต่รูปแบบ สัดส่วน แนวระดับ ส่วนประกอบและการประดับช่องหน้าต่างของมุขทั้งสองจะล้อรับกัน  มุขด้านขวาที่สั้นกว่าและตั้งอยู่ตอนบน  ทำให้ระนาบฐานไม่ถูกตัดขาดออกเป็น 3 ส่วน  แต่จะไหลต่อเนื่องถึงกันตลอด  ตอนล่างของระนาบฐานจะถูกเจาะเป็นช่องเปิดกรุกระจกขนาดใหญ่  ระนาบผนังหินที่หนักจึงดูเบาและลอยตัว  ทำให้เกิดความรู้สึกทั้งน่าสนใจและน่าสงสัยไปพร้อมๆกัน 

  

ภาพที่ 9a  

ภาพที่ 9b
ภาพที่ 9a-b  สโมสรอนุรักษ์นิยมแห่งเฮเลนส์เบอรห์ 
: รูปด้านและภาพถ่าย
ที่มา : 
www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk


        ผนังด้านหน้าอาคารสโมสรอนุรักษ์นิยมแห่งเฮเลนส์เบอรห์นี้ (ภาพที่ 9a, 10) แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานแรงบันดาลใจในการออกแบบที่หลากหลาย  ทั้งส่วนประกอบที่หยิบยืมจากสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของสก็อตแลนด์เช่น มุขยื่นออกจากผนังซึ่งมีเสากลมผอมเพรียวรองรับด้วยคันทวย (Corbel) รูปหน้าคนประดับอยู่ที่มุม และการแบ่งหน้าต่างออกเป็นสามส่วน  ในทำนองเดียวกันกับมุขยื่นที่ปราสาทเมย์โบล์ว (ภาพที่ 11)  สอดแทรกด้วยรายละเอียดที่มีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมโกธิคเช่น  ลวดลายรูปต้นไม้ที่ตอนบนของมุขยื่น  ลวดลายฉลุโปร่ง (Tracery) ภายในซุ้มโค้ง  และลวดลายพันธุ์ไม้ขมวดที่ปลายเสาประดับมุมของมุขยื่น  รวมถึงช่องเปิดกรุกระจกขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสิ่งแปลกใหม่  และเป็นเค้าลางของแบบอย่างใหม่ที่จะปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆในการออกแบบโครงการต่อๆไปของแมคอินทอช


ภาพที่ 10  สโมสรอนุรักษ์นิยมแห่งเฮเลนส์เบอรห์
: รูปด้านและภาพถ่าย
ที่มา : 
www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
 
ภาพที่ 11  ผนังและมุขยื่น ปราสาทเมย์โบล์ว
ที่มา : www.1066.co.nz


Comments

Popular posts from this blog

ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช สถาปนิกที่โลก (เคย) ลืม ตอนที่ 2 (ต่อ)

ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช สถาปนิกที่โลก (เคย) ลืม ตอนที่ 2