ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช สถาปนิกที่โลก (เคย) ลืม ตอนที่ 3 และ 4

        ปี 1901 แมคอินทอชได้เลื่อนฐานะเป็นหุ้นส่วนของสำนักงานสถาปนิกจอห์น ฮันนีแมน เคปปี แอนด์ แมคอินทอช  การยอมรับซึ่งมาพร้อมกับโอกาสและอิสระในการทำงานน่าจะปูทางไปสู่ความสำเร็จ  แต่เส้นทางข้างหน้าของเขากลับไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด  อาจเป็นเพราะแนวทางการออกแบบที่มุ่งไปสู่รูปแบบใหม่  ในขณะที่ผู้คนนิยมชมชอบรูปแบบที่หยิบยืมมาจากอดีต  ตั้งแต่ราวปี 1905 จึงแทบไม่มีเจ้าของงานรายใหม่ว่าจ้างแมคอินทอชออกแบบเลย   



ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช สถาปนิกที่โลก(เคย)ลืม  

Charles Rennie Mackintosh : 1868 - 1928 

ตอนที่ 3  เส้นทางขนานที่ไร้จุดบรรจบ

แบบประกวดอาคารแสดงงาน Glasgow International Exhibition,1901 ออกแบบโดยแมคอินทอช
รายละเอียดต่างๆมีเอกลักษณ์แปลกใหม่แตกต่างจากรูปแบบที่เคยมีมา
(แบบที่ชนะการประกวดครั้งนี้ เป็นอาคารรูปแบบเรเนอซองส์ ออกแบบโดย เจมส์ มิลเลอร์)   
ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk


        แมคอินทอชคงเข้าใจสถานการณ์และพยายามประคับประคอง  ดังเช่นในการติดต่อเพื่อเสนอรับงานออกแบบบ้านออชินิเบิร์ท (Auchinibert)  เมื่อส่งข้อมูลบ้านวินดีฮิลล์และบ้านเดอะฮิลล์ให้นายเอฟ เจ แชนด์ (F.J. Shand) เจ้าของบ้านพิจารณา  แต่ได้รับคำตอบว่าเขาชอบบ้านที่มีรูปแบบตามธรรมเนียมอังกฤษในอดีตมากกว่าบ้านทั้งสองหลังนั้น  แมคอินทอชได้เขียนจดหมายตอบว่า“...ผมเห็นด้วยและยินดีที่ได้ทราบว่าคุณต้องการให้บ้านมีรูปแบบเป็นอย่างไร...ที่สำนักงานของเรามีหนังสือมากมายเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมตามธรรมเนียมอังกฤษในอดีต  ซึ่งพร้อมให้บริการคุณตามต้องการ  ไม่ว่าคุณจะต้องการบ้านรูปแบบทิวดอร์ หรือรูปแบบตามธรรมเนียมอังกฤษในช่วงเวลาอื่นๆ  ผมให้คำมั่นว่าจะให้บริการออกแบบอย่างดีที่สุด  ถ้าได้รับมอบหมายให้เป็นสถาปนิก...”  อย่างไรก็ดีแม้แมคอินทอชจะได้รับงานนี้  แต่ก็ดูเหมือนว่าการทำงานอาจไม่ราบรื่นหรืออาจถึงขั้นขัดแย้ง  เพราะเพียงสองปีหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ  นายเอฟ เจ แชนด์ ได้ว่าจ้างสถาปนิกรายใหม่มาออกแบบปรับปรุงบ้านหลังนี้ 

เมื่อไม่สามารถหางานจากสายสัมพันธ์กับเจ้าของงาน  แมคอินทอชจึงต้องหางานด้วยการประกวดแบบโครงการต่างๆซึ่งมีมากในช่วงเวลานั้น  มากถึงขนาดมีนิตยสารรายเดือน British Competitions in Architecture ตีพิมพ์ผลงานและข่าวสารการประกวดต่างๆ  แมคอินทอชเข้าร่วมประกวดแบบหลายโครงการเช่น วิหารแห่งเมืองลิเวอร์พูล (Liverpool Cathedral : 1901-1902)  วิทยาลัยเทคนิคแห่งกลาสโกว์และสก็อตแลนด์ตะวันตก ( Glasgow & West of Scotland Technical College : 1901)  อาคารเรียนในมหาวิทยาลัยกลาสโกว์สำหรับคณะปรัชญา คณะสรีระวิทยา กายวิภาคและนิติเวชศาสตร์  และคณะสาธารณสุข (Departments of Natural Philosophy ,Physiology, Materia Medica, Forensic Medicine and Public Health : 1902)  สถาบันวิศวกรและนักต่อเรือ (Institute of Engineers and Shipbuilder : 1906)   เป็นต้น  แต่อาจเป็นเพราะแนวทางการออกแบบที่เป็นอิสระของเขาไม่สอดคล้องกับแนวทางกระแสหลักที่ยึดมั่นในรูปแบบและระเบียบแบบแผนที่เคยมีมาอย่างเคร่งครัด  ความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำอีกจึงเป็นสิ่งเดียวที่เขาได้รับ

 

การประกวดแบบวิหารแห่งลิเวอร์พูล (Liverpool Cathedral) : 1901-1902  

        การประกวดแบบนี้เป็นตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เข้าใจว่า  กระแสหลักที่ยึดมั่นในรูปแบบและระเบียบแบบแผนที่เคยมีมาอย่างเคร่งครัดมีอิทธิพลครอบงำการออกแบบสถาปัตยกรรมในช่วงเวลานั้นอย่างไร  แรกเริ่มข้อกำหนดการประกวดระบุว่ารูปแบบสถาปัตยกรรมต้องเป็นแบบโกธิค  ข้อกำหนดนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการถอยหลังเข้าคลองและปิดกั้นจินตนาการ  ต่อมาจึงถูกยกเลิกและเปิดกว้างให้ผู้เข้าประกวดเสนอรูปแบบที่เหมาะสม  แต่ถึงอย่างไรผู้เข้าประกวดแบบส่วนใหญ่ก็ยังเสนอรูปแบบโกธิค ที่เหลือก็เป็นรูปแบบคลาสสิคหรือเรเนอซองส์  กรรมการผู้ตัดสินสองท่านคือจอร์จ เฟรเดอริค บอดลีย์ (George Frederick  Bodley) และริชาร์ด นอร์แมน ชอว์ (Richard Norman Shaw)  ก็เป็นผู้ที่นิยมชมชอบรูปแบบโกธิคและคลาสสิค 

        สำนักงานสถาปนิกจอห์น ฮันนีแมน เคปปี แอนด์ แมคอินทอช  ได้ส่งแบบเข้าประกวด 2 แบบซึ่งล้วนเป็นผลงานจากฝีมือของแมคอินทอช  ในปัจจุบันพบเพียงแบบหมายเลข 2 (ภาพที่ 52a-b)  แบบนี้อาจทำขึ้นตามความคิดของจอห์น ฮันนีแมน  ซึ่งมีท่าทีสนับสนุนรูปแบบโกธิคมาแต่แรกเริ่ม  น่าเสียดายที่แบบหมายเลข 1 สูญหายไป  พบแต่เพียงร่องรอยจากคำบรรยายในนิตยสาร The Builder ว่า “เป็นแบบที่เรียบ นิ่งกว่า (แบบหมายเลข 2)”


ภาพที่ 52a รูปด้าน  วิหารแห่งลิเวอร์พูล

ภาพที่ 52b แบบทัศนียภาพ วิหารแห่งลิเวอร์พูล
ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk


        แม้แบบหมายเลข 2 จะมีเค้าโครงตามรูปแบบโกธิค  แต่แมคอินทอชก็ได้คลี่คลายแบบแผนไปตามจินตนาการและอุดมคติของเขา  เห็นได้จากแบบร่างแผ่นหนึ่งที่ถูกลบแก้ไขส่วนยอดศูนย์กลางวิหาร (ภาพที่ 53)  จากเดิมเป็นหอสูงที่มุมมียอดแหลมพุ่งทะยานขึ้นไปกลายเป็นหอสูงปลายตัด  แม้แต่ส่วนประกอบที่โดดเด่นของรูปแบบโกธิคคือโครงค้ำยันลอยตัว (Flying Buttress)  ตามแบบนี้ก็มีลักษณะเป็นครีบหนักทึบ (ภาพที่ 52b) ไม่ใช่โครงโค้งโปร่งเบา  รวมถึงช่องแสงฉลุลาย (Tracery) ซึ่งเป็นเส้นโค้งบิดผันพริ้วไหวอย่างเสรีและซับซ้อน  ทำให้เกิดลวดลายพิเศษหลากหลายรูปแบบ (ภาพที่ 54) ต่างจากแบบโกธิคเดิมเช่น วิหารยอร์ค (York Minster : ภาพที่ 55) ซึ่งแมคอินทอชเคยเดินทางไปสเกตซ์ศึกษา


ภาพที่ 53 แบบร่างที่ถูกลบแก้ไข วิหารแห่งลิเวอร์พูล
ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk

    ภาพที่ 54 : รายละเอียดช่องแสงตามแบบประกวดหมายเลข 2 วิหารแห่งลิเวอร์พูล
ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk

ภาพที่ 554 : ภาพสเกตซ์ช่องแสงวิหารยอร์คโดยแมคอินทอช
ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk

        ดูเหมือนว่าจอร์จ เฟรเดอริค บอดลีย์  กรรมการผู้นิยมรูปแบบโกธิคจะมีอิทธิพลอย่างมากในการคัดเลือกผลงานเพื่อพัฒนาแบบในขั้นตอนต่อไป  ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกทั้งหมดจึงเป็นรูปแบบโกธิค  และหนึ่งในนั้นคือแบบที่ชนะการประกวด  เป็นผลงานของ ไจล์ส กิลเบิร์ท สก็อตต์ (Giles Gilbert Scott) สถาปนิกหนุ่มผู้ยังอ่อนประสบการณ์  ซึ่งต้องทำงานนี้ต่อร่วมกับสถาปนิกที่บอดลีย์แต่งตั้ง  แบบของสำนักงานสถาปนิกจอห์น ฮันนีแมน เคปปี แอนด์ แมคอินทอช ไม่ได้รับคัดเลือก  เมื่อทราบผลแมคอินทอชคงรู้สึกทั้งเสียใจ ท้อใจ และโกรธอย่างมาก  เขาได้ระบายอารมณ์ที่พลุ่งพล่านไว้ในจดหมายถึงเฮอร์มาน์น มัทเธียส เพื่อนของเขาว่า
 
            ...การประกวดแบบวิหารแห่งนี้เป็นเรื่องน่าสมเพชเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด
            การสร้างสรรค์ต้นแบบใหม่ทางสถาปัตยกรรมกลายเป็นความผิดมหันต์
            โดยเฉพาะสำหรับใครก็ตามที่เป็นได้แค่นักลอกเลียนแบบ... 
 
        แม้แมคอินทอชจะไม่ประสบความสำเร็จในการประกวดแบบ  แต่นิตยสารสถาปัตยกรรมหลายฉบับก็ให้ความสนใจและเขียนถึงแบบวิหารแห่งลิเวอร์พูลที่เขาออกแบบอย่างชื่นชมเช่น The Builders' 
Journal and Architectural Record ตีพิมพ์ไว้ว่า

            “...เป็นผลงานตามแบบอย่างแห่งเมืองกลาสโกว์ (Glasgow Schoolที่ดูแปลกตาและ
            ไม่ยึดติดกับแบบแผน  ทั้งในแง่รายละเอียดและเทคนิคการเขียนแบบ  ผลงานนี้ได้ก้าวผ่าน
            ความเป็นสถาปัตยกรรมยุคกลางทั่วไปอย่างที่คุ้นเคยกัน...นับเป็นตัวอย่างของงานศิลปะ
            แนวใหม่ (L Art Nouveau) ทั้งในแง่การออกแบบและเทคนิคการเขียนแบบ...” 

และ British Architect ตีพิมพ์ไว้ว่า

            “...เป็นผลงานโดดเด่นที่เปี่ยมไปด้วยลักษณะสง่างาม ล้ำค่า...”

        ความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำอีกนอกจากจะทำให้แมคอินทอชเสียใจและท้อใจแล้ว  ยังอาจสร้างความเครียดสะสม  ซึ่งแสดงออกเป็นความกดดันและก้าวร้าวต่อผู้ร่วมงาน  บรรยากาศการทำงานจึงเลวร้ายลงเรื่อยๆ  เล่ากันว่าแมคอินทอชไม่สามารถจัดทำแบบที่เหมาะสมเพื่อส่งเข้าประกวดแบบโรงเรียนสาธิตจอร์แดนฮิลล์ได้ (Demonstation School at Jordanhill : 1913)  แอนดรูว์ เกรแฮม แอนเดอร์สัน (Andrew Graham Handerson) สถาปนิกดาวรุ่งดวงใหม่ในสำนักงานเป็นผู้จัดทำแบบส่งประกวด 
และแบบของเขาก็ชนะการประกวด  เหตุการณ์นี้คงเป็นสัญญาณว่าสิ่งที่แมคอินทอชตั้งใจทำอาจไม่ใช่สิ่งที่สำนักงานต้องการอีกต่อไป  ไม่นานหลังจากนั้นในราวปี 1914 เขาจึงตัดสินใจลาออกจากสำนักงานสถาปนิกจอห์น ฮันนีแมน เคปปี แอนด์ แมคอินทอช  ยุติการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนานเกือบสามทศวรรษ  

ในบันทึกความทรงจำ วอลเตอร์ ดับเบิลยู แบล็คกี เจ้าของบ้านเดอะฮิลล์ ได้เล่าถึงช่วงเวลาที่ยุ่งยากสับสนนี้ไว้ว่า
              
    “...เมื่อได้รับข้อความจากคุณนายแมคอินทอชขอร้องให้ผมไปเยี่ยมสามีเธอที่สำนักงาน
    ผมตอบรับด้วยความยินดี  เมื่อผมไปถึง  ผมเห็นเขานั่งอยู่ที่โต๊ะใบหน้าของเขาดู
    เศร้าหมองมาก  ไม่ว่าผมจะชวนคุยอย่างไร  เขาก็ยังนิ่งเงียบ  แต่ในที่สุดเขาก็พูด
    อย่างหนื่อยหน่ายว่า เขารู้สึกอึดอัดมากที่ไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง  มีเพียง
    ไม่กี่คนที่เห็นคุณค่าในผลงานของเขา  ในขณะที่คนอื่นๆมองข้ามไป 

    ผมตอบเขาว่า คุณอาจเกิดช้าไปหลายศตวรรษ  ถ้าตอนนี้คือศตวรรษที่ 15 คุณคง
    ได้รับการยอมรับไม่ต่างจากลีโอนาร์โดและศิลปินผู้ยิ่งใหญ่คนอื่นๆ  แต่ในเวลานี้คุณ
    อย่าไปคาดหวังการยอมรับเลย  

    ขานิ่งอึ้งไปแล้วจึงพูดต่ออย่างจริงจังว่า การเป็นหุ้นส่วนของสำนักงานถูกยกเลิกแล้ว  
    แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้เขากังวลมากท่ากับเรื่องงานต่างๆที่เขาออกแบบไว้  ซึ่งจะถูก
    จัดการต่อโดยคนที่ไม่เข้าใจ  และเขาคงไม่ได้เห็นผลสำเร็จของงานเหล่านั้นอีกแล้ว... 


ตอนที่ 4  เฮือกสุดท้ายที่ปลายทางตัน
        
        หลังจากลาออกจากสำนักงานแล้ว  ในเดือนกรกฎาคม ปี 1914 ในขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุขึ้น  แมคอินทอชและมากาเร็ตเดินทางไปหมู่บ้านชายทะเลวัลเบอร์สวิค (Walberswick) เพื่อพักผ่อนคลายเครียดสักระยะ  แต่การเดินทางครั้งนี้กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพลัดพรากจากกลาสโกว์บ้านเกิดเมืองนอนของเขาและเธอไปตลอดกาล 

        ปี 1915 ทั้งคู่ย้ายมาอาศัยในย่านเชลซี กรุงลอนดอน  ในขณะที่สงครามยังดำเนินต่อไปและส่งผลกระทบไปทั่ว  แมคอินทอชไม่สามารถหางานได้  เขาจึงทำงานชั่วคราวเป็นช่างเขียนแบบในโครงการออกแบบวางผังเมืองในอินเดีย  ซึ่งเป็นโครงการที่เสนอโดยแพทริค เกดเดส (Patrick Geddes) นักวิชาการผังเมืองชาวสก็อตเพื่อนของเขา  แมคอินทอชรับผิดชอบงานจัดทำแบบแสดงแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เหมาะสมกับผังเมืองเช่น การกำหนดให้มีทางเดินในร่ม (Arcade) ต่อเนื่องตลอดเพื่อกันแดดฝน  ดังตัวอย่างแบบรูปด้านอาคารร้านค้าและสำนักงานตามถนนสายหลักของเมือง (ภาพที่ 56)  แบบรูปด้านนี้แม้จะมีลักษณะแปลกใหม่อย่างที่แมคอินทอชเคยทำมาก่อน  ไม่ว่าจะเป็นส่วนประกอบที่เป็นสัญลักษณ์ของรูปแบบใหม่เช่น ช่องแสงตาราง ระนาบช่องเปิดตารางจัตุรัสขนาดใหญ่และส่วนประกอบแปลกตาที่ดูลึกลับชวนค้นหาเช่น กรอบรูปด้านแบบเส้นย่อมุมลดหลั่น เสาขนาบทางเดินที่ดูคล้ายเสาของวิหารอียิปต์ และซุ้มที่ดูคล้ายซุ้มคานไม้ซ้อนไขว้กันแบบญี่ปุ่น  แต่การจัดองค์ประกอบแบบเน้นแกนสมมาตร การจัดวางส่วนประกอบต่างๆอย่างเป็นระเบียบเคร่งครัด  และลักษณะอาคารที่นิ่งเฉย เคร่งขรึม เข้มงวด ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากแนวทางการออกแบบที่เขาทำมาตลอด  ก็อาจเป็นร่องรอยบ่งบอกว่า แมคอินทอชคงไม่มีอิสระในการจัดทำแบบมากนัก          

ภาพที่ 56  รูปด้านอาคารร้านค้าและสำนักงาน โครงการออกแบบผังเมืองในอินเดีย
ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk


อาคารสตูดิโอและที่พักอาศัยขนาดใหญ่  และสตูดิโอทั้งสามในเชลซี
(Block of Studios and Studio Flats  and Three Chelsea Studios ) : 1920

        เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ยุติลงในราวปลายค.ศ.1918  การก่อสร้างเพื่อรื้อฟื้นบ้านเมืองได้หวนกลับมาอีกครั้ง  แมคอินทอชก็ได้งานออกแบบบ้านและสตูดิโอจากคนทำงานศิลปะในย่านเชลซีที่เขารู้จัก  
ปี 1919 ได้มีการก่อตั้งองค์กรอาสาในนาม “พันธมิตรศิลปิน” (Arts League) เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนสตูดิโอสำหรับคนทำงานศิลปะ  หนึ่งในโครงการที่ท้าทายซึ่งแมคอินทอชเป็นผู้ออกแบบคือ อาคาร สตูดิโอและที่พักอาศัยขนาดใหญ่ (Block of Studios) ที่ถนนเกลบเพลซ (Glebe Place) ไม่ไกลจากสตูดิโอของเขา  นอกจากนั้นเขายังได้ออกแบบสตูดิโออีกสามหลัง (Three Chelsea Studios) ในแปลงที่ดินที่อยู่ติดกันด้วยได้แก่ สตูดิโอและที่ทำการพันธมิตรศิลปิน (Arts League Service) สตูดิโอแฮโรลด์ สไควร์ (Harold Squire Studio) และสตูดิโอฟรานซิส เดอร์เวนท์ วูด (Francis Derwent Wood Studio) 

        การออกแบบ "สตูดิโอทั้งสามในเชลซี" (ภาพที่ 57) และ "สตูดิโอและที่พักอาศัยขนาดใหญ่" (ภาพที่ 58) นับเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของแมคอินทอช  ที่ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นไปสู่รูปแบบใหม่  และฝีไม้ลายมือที่ไม่ลดน้อยถอยลง  แม้ว่ากายและใจของเขาจะเริ่มอ่อนล้า
     
ภาพที่ 57  รูปด้านสตูดิโอทั้งสามในเชลซี
ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk

ภาพที่ 58  แบบสตูดิโอและที่พักอาศัยขนาดใหญ่
ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk

        แบบสตูดิโอทั้งสามในเชลซี (ภาพที่ 57) แสดงให้เห็นถึงกลวิธีและชั้นเชิงในการออกแบบตามแบบฉบับของเขาที่แสดงออกอย่างมั่นใจ กล้า และเด็ดขาดยิ่งกว่าที่เคยทำมา  เห็นได้จากความเรียบเฉียบคมของรูปทรงที่ประกอบขึ้นจากรูปสี่เหลี่ยมและสามเหลี่ยม  โดยเฉพาะรูปสามเหลี่ยมที่เขานำมาใช้ในลักษณะรูปเรขาคณิตบริสุทธิ์  ไม่ใช่รูปที่หยิบยืมมาจากหน้าจั่วของบ้านท้องถิ่นอีกแล้ว  การจัดวางรูปสามเหลี่ยมเหลื่อมซ้อนสูงต่ำต่างกันทำให้เกิดจังหวะ  เส้นและแนวที่ส่งต่อล้อรับเชื่อมโยงผสานส่วนประกอบต่างๆเข้าด้วยกันอย่างมีเอกภาพ  การจัดวางระนาบช่องแสงตารางจัตุรัสหลากหลายขนาดอย่างโดดเด่นและเป็นอิสระ  อีกหนึ่งกลวิธีในการออกแบบที่น่าสนใจมากคือการจัดวางระนาบลดหลั่นกันโดยไม่อิงแนวแกนสมมาตร  ทำให้เกิดจังหวะของแสงเงาและรูปทรงที่ต่างขับเน้นซึ่งกันและกันอย่างมีชีวิตชีวา  ในความเรียบของรูปทรงจึงมีเสน่ห์ชวนมอง 

        แม้จะมีแนวทางและรูปแบบสอดคล้องกัน แต่อาคารสตูดิโอและที่พักอาศัยขนาดใหญ่ (ภาพที่ 58) ถูกออกแบบด้วยกลวิธีและชั้นเชิงที่ซับซ้อนน้อยกว่าสตูดิโอทั้งสาม  ซึ่งอาจเป็นเพราะต้องการควบคุมค่าก่อสร้าง  ส่วนประกอบหลายอย่างซึ่งเคยทำไว้ที่โรงเรียนศิลปะแห่งเมืองกลาสโกว์ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งเช่น  ระนาบช่องแสงตารางขนาดใหญ่ที่จัดเรียงอย่างสม่ำเสมอ  ช่องแสงตารางจัตุรัสที่เรียงตัวต่อเนื่องปรากฏเป็นรูปทรงแนวตั้ง  มุขยื่นออกจากผนังที่ดูคล้ายหอคอย  รวมถึงแนวทางการออกแบบที่ซื่อตรง เห็นได้จากรูปทรงอาคารเฉียงซึ่งเป็นผลจากข้อกำหนดเรื่องความสูงและการถอยร่นแนวอาคาร

        แมคอินทอชยังได้ทำแบบร่างอาคารสตูดิโอและที่พักอาศัยขนาดใหญ่ไว้อีกแบบหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นกลวิธีการออกแบบที่แปลกแตกต่างจากที่เขาเคยทำมา  จากแปลนและรูปด้าน (ภาพที่ 59a-b) จะเห็นว่าอาคารถูกแบ่งออกเป็นสองปีกขนาบพื้นที่ในแนวแกนสมมาตร  สตูดิโอจะไม่เรียงชิดต่อเนื่องในแนวเดียวกัน  แต่จะแยกกันเป็นอิสระและถูกจัดวางตามแนวแกนฉากและแกนเฉียง ปรากฏเป็นกลุ่มโอบล้อมพื้นที่สัญจรทางตั้ง  การจัดวางเช่นนี้แม้จะมีข้อดีคือ สตูดิโอจะมีพื้นที่ผิวภายนอกมากขึ้น  ซึ่งเอื้อให้ที่ว่าง แสง อากาศ ถ่ายเทเชื่อมต่อถึงกันระหว่างภายในกับภายนอก  แต่รูปทรงที่สะท้อนออกมาอย่างตรงไปตรงมากลับไม่น่าประทับใจเท่าที่ควร  ความสมมาตรทำให้เกิดลักษณะเคร่งครัดเป็นทางการ  และการจัดวางส่วนประกอบซ้ำๆทำให้เกิดลักษณะแข็งกระด้างเหมือนอาคารที่ผลิตซำ้มาจากโรงงาน  ไร้ชีวิตชีวาและอารมณ์สุนทรีย์อย่างงานช่างฝีมือ  ซึ่งขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับแนวทางที่แมคอินทอชพยายามทำตลอดมาไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุนี้หรือเหตุใดก็ตามแบบร่างนี้ไม่ได้ถูกพัฒนาต่อให้สมบูรณ์

ภาพที่ 59a  แบบร่างแปลนอาคารสดูดิโอและที่พักขนาดใหญ่
ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk

ภาพที่ 59b  แบบร่างรูปด้านอาคารสดูดิโอและที่พักขนาดใหญ่
ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk


บ้านเมืองที่เสียหายจากผลของสงครามทำให้เกิดปัญหาสำคัญคือ การขาดแคลนที่พักอาศัยและค่าก่อสร้างที่สูงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว  มาตรการต่างๆได้ถูกประกาศใช้เพื่อแก้ปัญหาเช่น การห้ามเปลี่ยนการใช้งานอาคารที่พักอาศัย การใช้งานอาคารที่พักอาศัยให้เกิดประโยชน์สูงสุด การสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย การส่งเสริมให้ใช้วัสดุและเทคนิคการก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น  ภายใต้มาตรการเหล่านี้แมคอินทอชต้องทำงานอย่างหนักเพื่อผลักดันโครงการต่างๆเช่น ในการออกแบบสตูดิโอแฮโรลด์ สไควร์  เขาได้คำนวณค่าก่อสร้างหลายครั้งเพื่อชี้ให้เห็นว่า การก่อสร้างด้วยอิฐตามแบบที่เขาเสนอประหยัดกว่าการก่อสร้างด้วยคอนกรีตตามความเห็นของเจ้าหน้าที่  นอกจากนั้นเขายังได้ปรับแบบเพื่อให้สามารถใช้เป็นที่พักอาศัยสำหรับสองคอบครัวคือครอบครัวแฮโรลด์ สไควร์ และครอบครัวแม่บ้านของเขา  เช่นเดียวกันในการออกแบบอาคารสตูดิโอและที่พักอาศัยขนาดใหญ่  เขาได้ทำแบบเพิ่มเติมและเข้าร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่หลายครั้ง  เพื่อแสดงแนวทางปรับปรุงสตูดิโอให้เป็นที่พักอาศัยซึ่งมีห้องนอนเป็นสัดส่วนและสะดวกสบาย  เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดเพื่อขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ  แต่ความพยายามของเขาก็ไร้ผล  สุดท้ายโครงการอาคารสตูดิโอและที่พักอาศัยขนาดใหญ่และสตูดิโอทั้งสามในเชลซี  ต้องล้มเลิกไปอย่างน่าเสียดาย

จนถึงทศวรรษที่ 2 ของศตวรรษที่ 20 แนวทางการออกแบบของแมคอินทอชก็ยังไม่ได้รับการยอมรับ  ซ้ำยังถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากผู้ที่ไม่เข้าใจ ตัวอย่างเช่นเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาแบบขออนุญาตก่อสร้างให้ความเห็นว่า (อาคารสตูดิโอและที่พักอาศัยขนาดใหญ่ และสตูดิโอฟรานซิส เดอร์เวนท์ วูด) 
"รูปด้านขาดความเป็นสถาปัตยกรรม  ต้องเพิ่มเติมรายละเอียดเพื่อให้มีคุณภาพมากขึ้น" แบบสตูดิโอทั้งสามในเชลซี และอาคารสตูดิโอและที่พักอาศัยขนาดใหญ่ (ภาพที่ 57,58) ที่จัดแสดงในนิทรรศการสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของอังกฤษในปีค.ศ. 1922  ก็ถูกมองข้ามและถูกวิจารณ์อย่างไม่มีชิ้นดีว่าเป็นผลงานที่แปลกประหลาด หลงยุค (ล้ำหน้า?!!!) 

Comments

Popular posts from this blog

ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช สถาปนิกที่โลก (เคย) ลืม ตอนที่ 2 (ต่อ)

ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช สถาปนิกที่โลก (เคย) ลืม ตอนที่ 2