ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช สถาปนิกที่โลก (เคย) ลืม ตอนที่ 5 (ตอนจบ)

        การทุ่มเททำงานที่สูญเปล่าและไม่ได้รับการยอมรับคงทำให้แมคอินทอชท้อแท้สิ้นหวัง ในขณะที่การอาศัยอยู่ในย่านเชลซี กรุงลอนดอน ที่ค่าครองชีพสูงก็คงสร้างความกดดันไม่น้อย  ราวปี 1919-20 มากาเร็ตจึงประกาศขายบ้านเลขที่ 6 อาคารฟลอเรนทีน เทอร์เรซ ในเมืองกลาสโกว์  บ้านที่ทั้งคู่ใช้ชีวิตร่วมกันเมื่อครั้งอาศัยอยู่ในเมืองกลาสโกว์  วิลเลียม เดวิดสัน เจ้าของบ้านวินดีฮิลล์ มิตรแท้ในยามยากของทั้งคู่ได้ซื้อและเก็บรักษาบ้านหลังนี้ไว้ยาวนานกว่ายี่สิบปี  เหมือนรอคอยการกลับมาของเพื่อนผู้เป็นเจ้าของเดิม  ซึ่งไม่มีวันนั้นจวบจนถึงวาระสุดท้ายของพวกเขา
        
        ปี 1923  แมคอินทอชและมากาเร็ตต้องอพยพอีกครั้งไปอาศัยอยู่ที่พอร์ต ฟองเดรอ (Port Vendres) เมืองชายทะเลทางใต้ของฝรั่งเศสเพื่อใช้ชีวิตอย่างสงบสมถะ  นับจากนี้แมคอินทอชหันหลังให้กับงานออกแบบสถาปัตยกรรม  และเบนเข็มหวนกลับไปสู่งานเขียนภาพซึ่งเป็นสิ่งที่เขาชื่นชอบมาแต่เยาว์วัย  ด้วยแรงบันดาลใจจากบ้านเรือนและภูมิทัศน์ท้องถิ่น  แมคอินทอชได้สร้างผลงานจำนวนไม่น้อยที่ตื่นตาตื่นใจ
  

ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช สถาปนิกที่โลก(เคย)ลืม  

Charles Rennie Mackintosh : 1868 - 1928 

ตอนที่ 5  ถอยหลังไปข้างหน้า



แมคอินทอชในวัย 52 ปี  ค.ศ.1920
ที่มา : Courtesy of Hoppe Estate Collection and Curatorial Assistance Inc.
ใน www gsaarchives.net


        บันทึกความทรงจำของวอลเตอร์ ดับเบิลยู แบล็คกี เจ้าของบ้านเดอะฮิลล์  มิตรแท้ของแมคอินทอช  เล่าถึงการทำงานของเขาในช่วงเวลานี้ว่า
 
        “...แมคอินทอชอุทิศตัวให้กับการเขียนภาพสีน้ำ  ใครได้เห็นภาพของเขาจะต้องคิดว่าเป็น
        ผลงานของจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่  ไม่นานผลงานของเขาก็เป็นที่หมายตาของหอศิลป์เทต
        (Tate Collection)  เมื่อเขาส่งผลงานให้พิจารณา  ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี  
        แต่เนื่องจากหอศิลป์มีข้อกำหนดว่า ผลงานที่จัดแสดงจะต้องมีผู้มอบให้ซึ่งไม่ใช่ศิลปิน
        เจ้าของผลงาน  แมคอินทอชและภรรยาขอร้องให้ผมรับหน้าที่เป็นผู้มอบผลงาน ซึ่งเป็น
        หน้าที่ที่ผมยินดีมาก  แม้ผมตั้งใจจะซื้อภาพและเป็นผู้มอบผลงานให้กับหอศิลป์จริงๆ 
        ไม่ใช่แค่การออกหน้า  แต่เขาและเธอไม่ยอมให้ทำอย่างนั้น  ชื่อของผมจึงถูกบันทึกอยู่
        ในรายนามผู้มอบภาพที่ผมไม่เคยเป็นเจ้าของ...”  


ภาพที่ 60  Fetges (ราว ค.ศ.1927)
ที่มา : www.tate.org.uk


        ภาพที่กล่าวถึงในบันทึกนี้คือ “Fetges” ที่แมคอินทอชเขียนขึ้นราวปี 1927 (ภาพที่ 60) ด้วยฝีไม้ลายมือและมุมมองที่ละเอียดอ่อน ภาพของเขาจึงโดดเด่นด้วยการประสานเส้นสายที่แปลกตา แง่มุมของสีสันแสงเงา การเรียงทับเหลื่อมซ้อนกันของระนาบและปริมาตร และจังหวะที่เกิดจากความตื้นลึกใกล้ไกล ตัวอย่างภาพที่น่าสนใจเช่น La Rue du Soleil, Port Vendres ,The little bay,Port Vendres ,A Southern Town ,The Road Through The Rock ,The Fort ,The Rock (ภาพที่ 61a-f)

 
ภาพที่ 61a  La Rue du Soleil, Port Vendres (ราว ค.ศ.1926)
ที่มา : www.wikiart.org

ภาพที่ 61b  The Little Bay ,Port Vendres (ราว ค.ศ.1927)
ที่มา : www.wikiart.org


ภาพที่61c  A Southern Town (ราว ค.ศ.1923-27)
ที่มา : Courtesy the Hunterian, Glasgow
ใน www.apollo-magazine.com


ภาพที่ 61d The Road Through The Rocks (ราว ค.ศ.1924-26)
ที่มา : www.crmsociety.com


ภาพที่ 61e The Fort (ราว ค.ศ.1925-26)
ที่มา : Courtesy the Hunterian, Glasgow 
ใน www.commons.wikimedia.org

ภาพที่61f The Rock (ราว ค.ศ.1927)
ที่มา : www.scotiana.com
        
        ปี 1927 แมคอินทอชป่วยหนักและต้องย้ายกลับมารักษาตัวที่กรุงลอนดอน  วอลเตอร์ ดับเบิลยู แบล็คกี เล่าถึงช่วงเวลานี้ไว้ในบันทึกความทรงจำว่า “...ไม่นานหลังการแสดงผลงานที่หอศิลป์เทต  แมคอินทอชป่วยหนักด้วยโรคมะเร็งที่คอ  หลังการรักษาอย่างต่อเนื่องยาวนานและการผ่าตัด  ดูเหมือนเขาจะฟื้นตัว  ผมได้รับจดหมายที่เขาเขียนมาเล่าว่าเขาดีใจขนาดไหนที่ดีขึ้นอีกครั้ง  แม้ว่ายังเจ็บปวดมากจากการรักษาและการผ่าตัด  เขาเริ่มทำงานได้และทำอย่างสนุก  แต่การฟื้นตัวก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆ  ก่อนที่โรคร้ายจะกำเริบขึ้นอีก...”  วันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.1928  โรคร้ายได้พรากแมคอินทอชไปจากโลกนี้  เหลือไว้เพียงผลงานที่ทุ่มเททำมาตลอดชีวิต

        7 มกราคม ค.ศ.1933 หลังจากล้มป่วยได้ไม่นาน มากาเร็ตภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของแมคอินทอชก็เสียชีวิต  เดือนพฤษภาคมของปีนั้น  ญาติมิตรของแมคอินทอชและมากาเร็ตได้ร่วมกันจัดนิทรรศการขนาดกะทัดรัดเพื่อระลึกถึงเขาและเธอ ณ หอศิลป์แมคเลอแลน (McLellan Galleries) ในเมืองกลาสโกว์ (ภาพที่ 62)  นิทรรศการครั้งนั้นคงเป็นได้เพียงอนุสรณ์แห่งมิตรภาพของคนกลุ่มเล็กๆเท่านั้น  ในนิตยสาร The Spectator รอเบิร์ต เฮิร์ด (Robert Hurd) ได้กล่าวถึงนิทรรศการครั้งนั้นว่า "...เป็นความจริงที่น่าเสียดายยิ่ง  ดูเหมือนว่าแม้แต่ชาวสก็อตผู้มีการศึกษาก็ยังไม่ตระหนักว่าแมคอินทอชคือสถาปนิกคนสำคัญระดับสากล..."

ภาพที่ 62 ภาพถ่ายการจัดแสดงนิทรรศการเพื่อระลึกถึงแมคอินทอชและมากาเร็ต
ที่หอศิลป์แมคเลอเลน ค.ศ.1933
ที่มา : บทความ The Mackintosh Phenomenon โดย Peter Trowles
ใน www.artnouveau-net.eu 

        ปี 1968 ได้มีการจัดนิทรรศการขนาดใหญ่แสดงผลงานของแมคอินทอช เป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลฤดูร้อนสากลแห่งเอดินบะระ เมืองสำคัญของสก็ตแลนด์ (Edinburgh 's International Summer Festival)  นิทรรศการนี้เป็นที่ชื่นชมอย่างมากและได้นำไปจัดแสดงต่อที่พิพิธภัณฑ์สำคัญในกรุงลอนดอน ดาร์มสตัดท์ และเวียนนา  ผลงานของแมคอินทอชเริ่มเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ  จนถึงในช่วงทศวรรษ 1980-90 นิทรรศการผลงานของแมคอินทอชได้ถูกจัดแสดงในเมืองต่างๆทั่วโลกเช่น โตเกียวเมืองหลวงของญี่ปุ่น อัมสเตอร์ดัมเมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์  คราเคา (Krakow) เมืองสำคัญของโปแลนด์  โบโกตาเมืองหลวงของโคลอมเบีย นิวยอร์ก ชิคาโก ลอสแอนเจลิส เมืองสำคัญของสหรัฐอเมริกา และประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น

       ปี 1996 ผู้คนในกลาสโกว์จึงมีโอกาสได้ชื่นชมผลงานของแมคอินทอชอย่างเต็มตาอีกครั้ง  ในนิทรรศการยิ่งใหญ่ซึ่งจัดขึ้นที่หอศิลป์แมคเลอเลน  หอศิลป์แห่งเดิมซึ่งเคยเป็นสถานที่จัดนิทรรศการเพื่อระลึกถึงแมคอินทอชและมากาเร็ตเมื่อปี 1933  แต่ผลตอบรับนั้นต่างกันมาก นิทรรศการครั้งหลังนี้มีผู้เข้าชมล้นหลามแสดงถึงความเข้าใจและยอมรับคุณค่าของผลงาน  ซึ่งเป็นสิ่งที่แมคอินทอชปราถนา  แต่แทบไม่เคยได้รับในชั่วชีวิตของเขา       

        หากการจัดนิทรรศการเพื่อระลึกถึงแมคอินทอชและมากาเร็ตในปี 1933 เป็นเหมือนการนำจิตวิญญาณสร้างสรรค์ของแมคอินทอชหวนคืนสู่กลาสโกว์ถิ่นฐานที่เขารักและผูกพันยิ่ง  แต่ต้องพิสูจน์ด้วยกาลเวลายาวนานกว่าหกทศวรรษ  แรงบันดาลใจที่หยั่งรากไว้จึงผลิบานในใจนักออกแบบรุ่นหลังเรื่อยมาตราบจนทุกวันนี้.


ภาพที่ 63  หุ่นจำลองอาคารแสดงงานหลัก 
แบบประกวดอาคารในงานนิทรรศการนานาชาติแห่งกลาสโกว์ ค.ศ.1901 
ที่มา : นิทรรศการ Unbuilt Mackintosh
 Lighthose, Scotland's Center for Design and Architecture, Glasgow ค.ศ.2017 
ใน www.thelighthouse.co.uk




แหล่งข้อมูลประกอบการเรียบเรียง

 

-  หนังสือ
วิจิตร  เจริญภักตร์, รองศาสตรจารย์ ดร.  ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมตะวันตก : คริสเตียนตอนต้น 
        ถึงสมัยใหม่.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543
Asensio, Paco, ed.  Charles Rennie Mackintosh.  Sabadell : teNeus, 2002
Gossel, Peter and Leuthauser, Gabriele.  Architecture in the Twentieth Century.     
        Germany : Taschen, 1991.
 
-  บทความเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต
 
www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk ได้แก่
-  The Architectural Career of C.R. Mackintos  เรียบเรียงโดย Joseph Sharple
-  Mackintosh Architectural Drawing  เรียบเรียงโดย Pamela Robertson
-  Mackintosh and Material  เรียบเรียงโดย Ranald  McInnes
คำบรรยายผลงานออกแบบของแมคอินทอช  ไม่ระบุผู้เรียบเรียง

 

www.crmsociety.com 
-  Charles Rennie Mackintosh  ไม่ระบุผู้เรียบเรียง
-  The Fou  ไม่ระบุผู้เรียบเรียง
-  Gaudi and Mackintosh  เรียบเรียงโดย  Marisa Herrero Membrado
-  Secret Symbols and Hidden Meanings  เรียบเรียงโดย  Dai Vaughan
-  Mackintosh, Keppie and The Glasgow Art Club  เรียบเรียงโดย James Macaulay

www.artnouveau-net.eu
- The Mackintosh Phenomenon : The rise of Charles Rennie Mackintosh as cultural icon, cultural superstar!  เรียบเรียงโดย Peter Trowles
  




 



Comments

Popular posts from this blog

ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช สถาปนิกที่โลก (เคย) ลืม ตอนที่ 2 (ต่อ)

ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช สถาปนิกที่โลก (เคย) ลืม ตอนที่ 2